fbpx

ความสำคัญของการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ - บทความโดย ศ.นพ. นิธิ มหานนท์

ในปัจจุบันยังมีคนที่เข้าใจไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการออกกำลังกายและโรคหัวใจอยู่อีกเป็นจำนวนมาก หลายคนคิดว่าเป็นโรคหัวใจแล้วจะต้องเป็นคนอ่อนแอ เมื่อโดนชี้ว่าเป็นโรคหัวใจแล้วต้องมีตราบาปในเรื่องของสุขภาพตลอดไป จึงพยายามหลีกเลี่ยงคำว่าโรคหัวใจ เช่น บางคนมีภาวะความดันโลหิตสูงก็มักจะชอบถามซ้ำแล้วซ้ำอีกกับหมอว่าตกลงตัวเองเป็นโรคหัวใจหรือไม่ หมอที่ถูกถามเองก็จะตอบให้ชัดๆ ก็ลำบากเพราะคนที่มีภาวะความดันโลหิตสูงนั้นไม่ได้มีความผิดปกติจากหัวใจ ที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง แต่ความดันโลหิตสูงก็มักจะมีโอกาสเกิดความผิดปกติของหัวใจตามมาทีหลังได้ ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ยาที่ควบคุมความดันโลหิตกับยาหัวใจก็เป็นยาประเภทเดียวกันเสียอีก

 

โรคหัวใจชนิดต่างๆ ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะวิทยาการการรักษาและยารักษาโรคหัวใจที่มีในปัจจุบันนั้น ก้าวหน้ามาก ส่วนใหญ่แล้วหมอสามารถรักษาโรคหัวใจได้โดยไม่ยากนัก (“รักษา”ในที่นี้หมายความว่าทำให้หาย ไม่ได้หมายความว่า “เก็บไว้” เดี๋ยวจะหาว่าหมอเลี้ยงโรคเลี้ยงไข้) ที่สำคัญกว่าการรักษา (ให้หายจาก) โรคก็คือ ทำให้ผู้ป่วยแข็งแรงขึ้นกว่าเดิมอย่าคิดว่าทำไม่ได้ เพราะการทำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจให้แข็งแรงขึ้นกว่าเดิมนี่แหละ คือ เป้าหมายที่หมอทุกคนควรมีให้ผู้ป่วยโรคหัวใจซึ่งก็จะเกี่ยวข้องกับการออกกำลังกาย

 

การทำให้ผู้ป่วยแข็งแรงขึ้นก็หมายความว่า ทำให้เขาไม่อ่อนแอลง การที่ผู้ป่วยโรคหัวใจอ่อนแอลงก็หมายความว่าทำให้เขาเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจซ้ำ (อีก) ลดลง เพราะการเป็นโรคหัวใจนั้น ไม่ใช่เป็นครั้งเดียวแล้วไม่เป็นอีกเพราะมีภูมิคุ้มกันเหมือนโรคติดเชื้อ ตรงกันข้ามกับโรคติดเชื้อบางประเภทที่เมื่อเป็นแล้วผู้ป่วยจะมีภูมิคุ้มกัน โรคหัวใจ (โดยเฉพาะโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ) คนที่เป็นแล้วกลับจะยิ่งอ่อนแอลง (ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม) เพราะมีโอกาสที่จะเป็นโรคหัวใจดังกล่าวซ้ำแล้วซ้ำอีก มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจแบบอื่นๆมากขึ้นกว่าคนที่ไม่เคยเป็นโรคหัวใจเลย

 

การทำให้ความเสี่ยงดังกล่าวลดน้อยลงคือ ทำให้ผู้ป่วยแข็งแรงขึ้น และทำให้มีโอกาสกลับมาเป็นโรคนี้น้อยลงก็ไม่ใช่เรื่องยาก หมอเพียงแค่จัดยาบางชนิดที่ในระยะหลังก็มีหลายตัวที่ได้รับการพิสูจน์ยืนยันจากการทดลอง จากผู้ป่วยรวมแล้วเป็นแสนๆคนว่า จะทำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจซ้ำใหม่น้อยลง แต่ที่อาจจะยากสำหรับผู้ป่วยบางคน (ที่ขี้เกียจ) มากกว่า การรับประทานยา แต่จะทำให้ ความเสี่ยงที่เหลือน้อยลงแล้วนั้น ลดลง เหมือน หรือ ดีกว่า คนที่ไม่เคยเป็นโรคหัวใจได้ ก็คือ การออกกำลังกาย ที่ผู้ป่วยจะต้องทำเอง เพราะหมอช่วยทำให้ไม่ได้ การออกกำลังกายใครทำ ใครก็ได้

 

การออกกำลังกาย “ที่ถูกวิธี” จะทำให้ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจลดลงถึงร้อยละ 30 ซึ่งให้ผลดีมากกว่ายาหลายตัวที่มีใช้อยู่ในขณะนี้แต่ก็เป็นที่น่าแปลกว่าคนส่วนใหญ่ถ้าเลือกได้จะเลือกรับประทานยามากกว่าการออกกำลังกาย ทุกครั้งที่หมอหลายคนบอกให้ผู้ป่วยออกกำลังกาย ผู้ป่วยและญาติมักจะนึกถึงการเล่นกีฬา หรือกิจกรรมที่ต้องทำจนเหนื่อย เหงื่อออกท่วมตัว ซึ่งจริงๆแล้วเป็นความเข้าใจผิดที่ทำให้หลายคนขยาดการออกกำลังกาย

 

การออกกำลังกายเพื่อให้ได้ประโยชน์กับร่างกายผู้ป่วยโรคหัวใจนั้น น่าจะเรียกว่า “กิจกรรม” มากกว่า เพื่อให้คนที่ได้ยินพอทำใจที่จะมีกิจกรรมดังกล่าวได้ เพราะการออกกำลังหรือกิจกรรมที่ทำแล้วจะได้ประโยชน์ทำให้หัวใจแข็งแรงขึ้นนั้นเพียงแค่เป็นกิจกรรมที่ทำต่อเนื่อง (ต่อเนื่อง หมายความว่าไม่หยุดพัก) 20-30 นาที สัปดาห์ละ 4-5 วัน

 

กิจกรรมที่ว่านี้ อาจจะเป็นการเดินชอปปิ้ง (ที่ห้ามหยุดซื้อหรือหยุดดู) การทำสวน กวาดสนามหญ้า ล้างรถ ซักผ้า ถูบ้าน ดูดฝุ่น หรือเต้นรำก็ได้ แต่ประเด็นที่สำคัญคือ อยู่ที่การทำอย่างต่อเนื่อง 20-30 นาทีเป็นอย่างน้อย และทำให้ได้ 4-5 วันต่อสัปดาห์

 

สำหรับคนที่ป่วยเป็นโรคหัวใจไปแล้วไม่ว่ารุนแรงมากน้อยเท่าใด ย้ำนะครับ ไม่ว่าจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหนก็สามารถค่อยๆ (ค่อยๆคือ เบาๆ และช้าๆ) ฝึกให้มากขึ้นได้ มีภาวะทางหัวใจอยู่น้อยชนิดที่หมอจะห้ามออกกำลังกายอย่างเด็ดขาด แต่ถึงอย่างนั้น การมีกิจกรรมเบาๆอย่างต่อเนื่องก็ไม่เคยเป็นข้อห้ามใดๆ

 

แพทย์ที่เชี่ยวชาญการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจจะค่อยๆฝึกและจัดโปรแกรมให้ผู้ป่วยโรคหัวใจในทุกช่วงอายุได้ทำตามความหนักเบาของโรค โดยมีเป้าหมายความสำเร็จที่จะทำให้ผู้ที่จบออกจากโปรแกรมนั้นมีหัวใจที่แข็งแรงขึ้น แต่ท้ายที่สุดก็คงอยู่ที่ผู้ป่วยด้วยว่าจะรักษาความแข็งแรงนั้นไว้ได้ตลอดไปหรือไม่ เพราะความต่อเนื่องสม่ำเสมอ จะมีผลที่ทำให้ประโยชน์จากการออกกำลังกาย (กิจกรรม) นั้นอยู่ได้นาน

 

ในโปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจที่ดีนั้น ผู้ป่วยนอกจากจะได้รับการวางโปรแกรมการออกกำลังกาย (กิจกรรม) ที่เหมาะสมสำหรับแต่ละคนแล้ว ยังควรจะได้รับคำแนะนำเรื่องอาหารที่เหมาะสม (ผมใช้คำว่าเหมาะสมไม่ใช่ ถูกต้อง เพราะอาหารที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์สำหรับคนส่วนใหญ่อาจจะไม่เหมาะสมสำหรับบางคนก็ได้) และการควบคุมน้ำหนักตัว รวมถึงให้คำแนะนำในการหลีกเลี่ยงและเลิกปัจจัยเสี่ยง เช่น บุหรี่

 

มีคนไข้คนหนึ่งอายุประมาณ 70 ปีเศษ มาพบผมด้วยอาการเหมือนไม่มีแรงมาเป็นปี เธอมีประวัติว่า ได้รับการผ่าตัดทำบายพาส (การผ่าตัดต่อหลอดเลือดหัวใจ) เพราะพบว่ามีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เนื่องจากว่าเธอมีภาวะหัวใจล้มเหลวหลังผ่าตัด และมีภาวะไขมันในเส้นเลือดสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงอยู่ก่อน เธอจึงได้รับคำแนะนำจากหมอผ่าตัดก่อนกลับบ้านไปว่าให้ “งด” อาหารมันและ “งด” เกลือและอาหารที่มีรสเค็ม

 

เนื่องจากคนไข้คนนี้ เป็นคนที่มีความรู้ทางโภชนศาสตร์ดีพอสมควร เธอไปค้นคว้าจนรู้ว่าอาหารหลายชนิดจากเนื้อสัตว์ล้วนแต่มีไขมันคอเลสเตอรอลทั้งสิ้น และเธอก็ยังรู้อีกว่า เกลือเป็นโซเดียมที่อาจจะทำให้มีน้ำคั่งเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวนั้น มีอยู่ในอาหารที่มีรสจัดทุกชนิดไม่ใช่เฉพาะแค่รสเค็มเท่านั้น เธอจึง “งด” ทุกอย่างตามที่หมอสั่ง รับประทานแต่ผักต้มนานๆครั้งจะมีปลานึ่งบ้าง หรือบางครั้งนอกจากต้มหรือนึ่ง ก็ทำอาหารโดยใช้ไมโครเวฟ

 

เธอทำตามหมอ “สั่ง” ได้อย่างเคร่งครัด….เคร่งครัดจนกระทั่งน้ำหนักตัวเธอค่อยๆลดจาก 50 กิโลกรัม เหลือ 45…43…40 และ 37 กิโลกรัมในที่สุดภายในเวลา 1 ปี จนกระทั่งเธอไม่มีแรง เดินไม่ได้ ต้องนั่งรถเข็น

 

เมื่อได้ตรวจร่างกายและตรวจเลือดทางห้องทดลองก็พบว่า เธอขาดสารอาหารอย่างรุนแรง กล้ามเนื้อตามตัวตามขาลีบเรียวเล็กไปหมด จึงต้องค่อยๆบำรุงให้อาหารเธอทีละเล็กทีละน้อย พร้อมกับทำกายภาพบำบัด เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ยืดข้อและเส้นเอ็นที่ยึดติดไปให้ดีขึ้น ใช้เวลาอยู่เดือนกว่าๆเธอก็เริ่มมีแรงดีขึ้น เดินได้ ขณะนี้สามารถเดินเบาๆได้ 20-30 นาที น้ำหนักตัวกลับมาอยู่ที่ 47 กิโลกรัมซึ่งพอดีกับส่วนสูงของเธอแล้ว ขณะนี้เธอรับประทานอาหารได้ดีขึ้น เพราะเธอรู้ว่าอะไรที่ควร “ลด” ไม่ควร “งด”

 

 


 

 


สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ LINE สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก

เพิ่มเพื่อน

 


 

สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก ยินดีให้คำปรึกษาและพร้อมแนะนำโปรแกรมที่เหมาะสมให้แก่คุณ

สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก เวชศาสตร์ฟื้นฟูผสมผสาน | Rehabilitation & Wellness Center | Center for Brain

Line Official : @arunhealthgarden (มีเครื่องหมาย @) (https://lin.ee/kVkb3zA)

facebook.com/arunhealthgarden

instagram : arunhealthgarden

Tel : 02-717-4441 หรือ 094-812-7722

หมวดหมู่

คลังเก็บ