fbpx

ส้ม หรือ ชมพู่? - บทความโดย ศ.นพ. นิธิ มหานนท์ - Arun Health Garden

 

ไม่ใช่น้องส้ม ไม่ใช่น้องชมพู่นะครับ ที่จะให้เลือก แต่เป็นผลไม้ที่ให้เปรียบเทียบรูปร่างกัน ใครมีรูปร่างเหมือนส้ม คือ อ้วนที่พุง พุงป่องกลางตัวเหมือนผลส้มที่กว้างออกตรงกลาง ส่วนคนที่มีรูปร่างเหมือนผลชมพู่ คือ อ้วน บริเวณต่ำกว่าพุงก็คือ สะโพก พวกนี้เป็นคนที่มีสะโพกโตกว่าพุง

 

ตำราฝรั่งเขาใช้เปรียบเทียบเหมือนลูกแอปเปิลและลูกแพร์ ผมแค่หาผลไม้ไทยๆ มาใช้เปรียบเทียบ คนไทยที่ไม่เคยเห็นลูกแพร์จะได้พอนึกออกว่าหุ่นลูกชมพู่เป็นอย่างไร เพราะคงมีคนไทยน้อยคนที่ไม่เคยกินชมพู่ (ถึงแม้จะมีคนไม่เคยเห็นลูกชมพู่ ส่วนมากก็เคยเห็นจมูกชมพู่ว่ารูปร่างเป็นอย่างไร)

 

การที่มีน้ำหนักตัวมาก (อ้วน) นั้น ไม่ดีต่อสุขภาพแน่ๆ ถ้าไม่นับว่าความอ้วนทำให้เกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจ ระดับไขมันผิดปกติ หรือภาวะต่างๆทางสมอง เช่น สมองเสื่อม หรือ มะเร็ง ที่กว่าจะแสดงให้เห็นก็ต้องใช้เวลาแต่อย่างน้อยก็ทำให้ปวดข้อปวดเข่าได้ง่าย แต่สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่านั้นน้ำหนักก็คือ ไขมันส่วนที่เกิดนั้นร่างกายสะสมไว้ที่ไหน ในระยะหลังเราพบว่า คนอ้วนที่หุ่นเหมือนผลส้ม คือ มีไขมันสะสมที่ท้อง ทั้งในท้องและที่ผนังหน้าท้องนั้นมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหัวใจ อัมพาต เบาหวาน ความดันโลหิตสูงและมะเร็งบางชนิด ในขณะที่คนอ้วนหุ่นชมพู่ คือ มีไขมันส่วนเกินสะสมที่สะโพกและต้นขา มีความเสี่ยงต่ำกว่าและอาจจะยังมีผลลดความเสี่ยงบางชนิดโดยเฉพาะในผู้หญิง

 

เรื่องความอ้วนและรูปร่าง นอกจากเกี่ยวกับสุขภาพแล้วยังเป็นเรื่องความสวยความงามอีกด้วย มาตรฐานความงามเองก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลาแล้วแต่วัฒนธรรมสังคมช่วงนั้นๆคนที่ไปพิพิธภัณฑ์ต่างประเทศอาจจะ เคยสังเกตเห็นรูปผู้หญิง (นางแบบ) ในรูปภาพสมัยก่อนๆ ที่ค่อนข้างท้วม มีพุงหน่อยๆ (ต้องเรียกว่ามาก ถ้าเทียบกับปัจจุบัน) รูปปั้นวีนัส (Venus de Milo) ที่เป็นตัวแทนของเทพีกรีกก็ค่อนข้างท้วมและมีกล้ามเนื้อมากกว่านางแบบในปัจจุบัน แต่โชคดีวีนัสที่ว่าอ้วน (ตามมาตราฐานปัจจุบัน) นั้น ดูแล้วน้ำหนักส่วนใหญ่น่าจะอยู่บริเวณสะโพกและขามากกว่าที่หน้าท้อง

 

เนื่องจากปัจจุบันคนเราอายุยืนยาวขึ้น คนสมัยก่อนจะเสียชีวิตเร็วจากโรคติดเชื้อ หรือ อุบัติเหตุ เป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบัน การผ่าตัดและยาฆ่าเชื้อดีๆมีมาก รักษาโรคติดเชื้อและป้องกันการติดเชื้อได้ดี คนจึงมีอายุยืนขึ้นแต่มาเป็นโรคเสียเสียชีวิตจากความเสื่อม (ของสังขารที่เป็นธรรมดา) ซึ่งภาวะความเสื่อมต่างๆของร่างกายนี้ถูกเร่งให้เกิดเร็วขึ้นจากความอ้วนนี่เอง

 

ความอ้วนทำให้เกิดโรคจากความเสื่อมได้

 

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าน้ำหนักที่น้อยมากๆ หากไม่มีมวลกล้ามเนื้อดีพอจะทำให้สุขภาพดีกว่าปกติ เช่นเดียวกัน ถ้าอ้วนแบบส้ม (ลงพุง) จะมีความเสี่ยงสูงกว่าอ้วนแบบชมพู่ (สะโพก) ดังนั้น การทำให้ท้องแฟบท้องแบนแล้วก็น่าจะทำให้แข็งแรงกว่าปกติ โดยเฉพาะยิ่งถ้ากล้ามเนื้อท้องและลำตัว

 

การออกกำลังกายด้วยการ Sit Up เป็นการออกกำลังกายที่ดี ที่นอกจากจะช่วยลดหน้าท้องโดยการที่ทำให้กล้ามเนื้อเฟิร์มขึ้นแล้วยังช่วยเรื่องอาการปวดหลังได้ แต่การที่จะลดไขมันที่สะสมหน้าท้องและในท้องและในท้องให้ได้มากๆ นั้นต้องใช้การออกกำลังกายแบบแอโรบิก (เต้น วิ่ง เดิน ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน) ร่วมกับการควบคุมอาหาร โยเฉพาะของหวานต่างๆและแป้งที่แปรสภาพ หรือ อาหารที่มาจากการแปรสภาพหลายๆขั้นตอน (Ultra Processed Food) เพื่อเผาผลาญไขมันส่วนที่เกินออกไป ไม่ใช่เพียงแต่ Sit Up เพื่อให้กล้ามเนื้อหน้าท้องเฟิรมเพียงอย่างเดียว

 

เครื่องไม้เครื่องมือหรืออาหารที่อวดอ้างสรรพคุณว่าสามารถลดสัดส่วนต่างๆบางที่ได้รวดเร็วโดยไม่ต้องใช้ความพยายามหรือความอดทนนั้นนอกจากเสียเงินแล้วประโยชน์ที่ได้ต่อสุขภาพโดยรวมก็มีน้อยมาก จะได้ก็แต่สุขภาพจิตดีขึ้นเพราะหลงคิดว่าหุ่นที่เห็นนั้นดีแล้ว (ถ้าหลงมากไปกว่านั้น คือ โมหะ ว่าหุ่นและร่างกายที่เห็นนั้นเป็นของเรา)

 

แล้วทำไมไขมันถึงไปสะสม (พอก) ที่สะโพก ต้นขา บางคนถึงไปอยู่ที่หน้าท้อง ในท้องรอบๆ ลำไส้และอวัยวะต่างๆเป็นคำถามที่หลายๆคนอยากรู้ คงไม่ใช่เพราะบางคนใช้กล้ามเนื้อหน้าท้องออกกำลังหน้าท้องมาก ไขมันถึงเลี่ยงไปสะสมที่สะโพกและขาแทน ปัจจัยที่พอเป็นเหตุอธิบายการสะสมของไขมันในที่ต่างๆในขณะนี้ที่ทราบ คือ “เพศ” เพราะ เพศชายมีแนวโน้มที่ไขมันจะสะสมบริเวณกลางๆตัว คือ ที่ท้องมากกว่าผู้หญิง แต่ผู้หญิงหลักจากหมดประจำเดือนแล้ว ไขมันก็จะไปสะสมบริเวณกลางลำตัวเป็นน้องส้มได้เช่นกัน นอกจากนี้ กรรมพันธุ์กับการทำกิจกรรมออกกำลังกายก็พอมีส่วนได้เหมือนกัน เช่นเดียวกับการรับประทานอาหารแปรรูปที่ผ่านขบวนการหลายขั้นตอน (Ultra Processed Food) ก็จะทำให้อ้วนได้ง่าย ไขมันสะสมในช่องท้องได้มาก

 

คนที่อ้วนบริเวณท้อง (น้องส้ม) จะมีความเสี่ยงต่อการมีไขมันตัวร้าย (LDL Cholesterol) ไตรกลีเซอไรด์ (ไขมันในเลือด) ความดันโลหิต และระดับน้ำตาลในเลือดสูง รวมทั้งมีความสัมพันธ์กับการดื้อของฮอร์โมนอินซูลินและระดับไขมันตัวดี (HDL Cholesterol) ต่ำทั้งหมดเหล่านี้เป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการเกิดโรคระบบหัวใจ หลอดเลือดและสมอง

 

ไขมันบริเวณสะโพกและต้นขาจะถูกสะสมในเซลล์ไขมัน (Fat Cell) ใต้ผิวหนัง(Subcutaneous Fat) ในขณะที่ไขมันบริเวณกลางลำตัว (ของน้องส้ม)จะถูกสะสมอยู่รอบๆตับและอวัยวะอื่นๆในช่องท้อง (Visceral Fat) ไขมันที่อยู่ในช่องท้องนี้ยังผลิตฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งก็อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนอ้วนหลังหมดประจำเดือนจะมีความเสี่ยงสูงขึ้นในการเกิดมะเร็งเต้านม

 

นอกจากโรคทางหลอดเลือดหัวใจ สมองและมะเร็งที่พบสูงขึ้นในคนที่อ้วนลงพุงแล้ว มีการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย พบว่า คนที่อ้วนแบบน้องส้ม (ฝรั่งเรียกน้องแอปเปิล) ยังมีโอกาสเกิดสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น และยังมีรายงานอีกว่า คนที่มีเอวกว้าง คือ อ้วนแต่ที่พุง อายุระหว่าง 40-45 ปีเมื่ออายุ70 ปีจะมีโอกาสมีสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น 3 เท่า ส่วนพวกที่อ้วนทั้งที่พุงและสะโพก (เท่าๆกัน) ความเสี่ยงจากสมองไม่ได้เพิ่มตามไปด้วย

 

แล้วแค่ไหนถึงจะเรียกว่าลงพุง เรื่องนี้ทางการแพทย์มีแนวทางการวัดไว้ว่า ถ้าจะให้แม่นยำที่สุด คือ วัดเทียบอัตราส่วนระหว่างเอวและสะโพก โดยความกว้างของเอวให้วัดส่วนที่กว้างที่สุดบริเวณสะโพกและก้น ความกว้างของเอวให้วัดโดยกำหนดจุดกึ่งกลางระหว่างกระดูกซี่โครงต่ำสุดที่คลำได้กับส่วนบนสุดของกระดูกสะโพก (บริเวณที่จี๋แล้วจั๊กจี้นั่นเอง)แต่จะยากหน่อยในคนที่อ้วนมากๆจนพุงและสะดือย้อยตกไปจนเกือบถึงสะโพก (อย่าคิดว่าไม่มีนะครับ)

 

ถ้าใครอ้วนจนสะดือย้อยขนาดนั้นไม่ต้องเสียเวลาวัดหรอกครับความเสี่ยงต่างๆสูงจนคาดคะเนได้ยากเช่นกัน ถ้าอัตตราส่วนระหว่างเอวกับสะโพกมากกว่า 1.0 ในผู้ชาย และ 0.9 ในผู้หญิง ก็แสดงว่ามีความเสี่ยงสูง หรือถ้าจะให้ง่ายกว่านี้ก็มีคนดูที่รอบเอวอย่างเดียว คือว่าถ้าผู้ชายเอวมากกว่า 40 นิ้ว ผู้หญิงมากกว่า 35 นิ้วก็จะมีความเสี่ยงสูงมากขึ้นเหมือนกัน แต่ตัวเลขพวกนี้ ไม่ใช่ขาวกับดำนะครับ เดี๋ยวผู้ชายที่เอว 39.5 นิ้วจะคิดว่าสบายแล้ว ยังไงๆ ก็ทำน้ำหนักตัวให้พอดี พอประมาณดีกว่าครับ ไม่มีอะไรดีไปกว่าความพอดี

 

 


 

 


สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ LINE สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก

เพิ่มเพื่อน

 


 

สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก ยินดีให้คำปรึกษาและพร้อมแนะนำโปรแกรมที่เหมาะสมให้แก่คุณ

สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก เวชศาสตร์ฟื้นฟูผสมผสาน | Rehabilitation & Wellness Center | Center for Brain

Line Official : @arunhealthgarden (มีเครื่องหมาย @) (https://lin.ee/kVkb3zA)

facebook.com/arunhealthgarden

instagram : arunhealthgarden

Tel : 02-717-4441 หรือ 094-812-7722

หมวดหมู่

คลังเก็บ