fbpx

สามเกลอหัวแข็ง ตอนที่ 1 : เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันผิดปกติ - Arun Health Garden

ทั้งเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันผิดปกติ เป็นโรคที่พบได้บ่อยขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น และภาวะทั้ง 3 มีความเกี่ยวเนื่องกันและมีขบวนการก่อโรคอยู่นานก่อนที่ใครคนใดคนหนึ่งจะถูกหมอตัดสิน (วินิจฉัย) ว่ามีภาวะนั้นแล้วเริ่มการรักษา!!!

เรียกว่าพบได้บ่อยๆ ที่มีทั้งโรคเบาหวาน ไขมันผิดปกติ และความดันโลหิตสูงในคนๆเดียว โดยเฉพาะในคนที่มีน้ำหนักเกิน มีไขมันสะสมใต้ผิวหนัง และในช่องท้องมาก ใครที่มีทั้งสามเกลอนี้อยู่ โอกาสที่จะเป็นโรคหัวใจ โรคไต โรคหลอดเลือดในสมอง ก็จะเพิ่มขึ้น

 

เบาหวาน คือโรคที่มีความผิดปกติของฮอร์โมนอินซูลินที่ผลิตจากเซลล์ในตับอ่อน ซึ่งมีหน้าที่ในการนำน้ำตาลที่ได้จากการรับประทานอาหารไปใช้ตามเซลล์ต่างๆในร่างกาย ความผิดปกติ ที่ว่านี้คือร่างกายผลิตอินซูลินได้น้อยลง หรือเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน คืออินซูลินทำหน้าที่ได้ไม่ดี เหมือนเดิม โดยเฉพาะคนที่มีไขมันสะสมมากดังกล่าว เนื่องจากเซลล์ที่เก็บสะสมไขมันไม่ค่อยชอบใช้น้ำตาลนัก ทำให้เกิดปัญหาคือน้ำตาลอยู่ในเลือดมากขึ้น กลายเป็นภาวะที่เรียกว่า เบาหวาน ซึ่งทราบได้จากการตรวจเลือดหลังอดอาหาร 8-12 ชั่วโมงแล้วพบว่ามีปริมาณน้ำตาล (Fasting Blood Sugar) มากกว่า 126 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หรือน้ำตาลสะสม ( Hemoglobin A1c หรือ HbA1c) มากกว่า 6.5 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

 

อาการเบื้องต้นที่สังเกตได้เองของเบาหวานคือปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย กินบ่อย แต่น้ำหนักลด เพราะน้ำตาลไม่สามารถนำไปใช้ได้ ถูกขับออกมากับปัสสาวะหมด แต่ส่วนใหญ่ก็มักไม่มีอาการดังกล่าวนี้เลยแต่น้ำตาลสูงอยู่นาน จนกระทั่งเกิดภาวะโรคหัวใจเฉียบพลันต่างๆ, อัมพาต, อัมพฤกษ์ หรือไตวาย

 

โรคเบาหวาน ถ้าไม่รักษา รายที่น้ำตาลสูงมากๆ ในที่สุดร่างกายจะไม่สามารถนำน้ำตาล ไปใช้ได้เลย ทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด ช็อค และอันตรายถึงชีวิตได้ ส่วนการรักษานั้นหลักการก็คือ ทำอย่างไรให้อินซูลินหลั่งได้มากขึ้นหรือทำให้อินซูลินทำงานได้ดีขึ้น ในระยะยาวยังเป็นการป้องกัน ไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆจากเบาหวาน ซึ่งมีผลกระทบไปทั่วร่างกายตามระบบประสาท และหลอดเลือดทั่วตัว เช่นไต สมอง ตา ระบบประสาทและหลอดเลือดส่วนปลาย คนไข้เบาหวาน ครึ่งหนึ่งเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ เป็นสองโรคที่เกิดควบคู่ไปด้วยกัน จนสมัยนี้เรียกว่าใครเป็นเบาหวาน ก็ถือว่าเป็นโรคหัวใจด้วย

การรักษาโรคเบาหวาน นอกจากการใช้ยาแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต ทั้งเรื่องการรับประทานอาหารอย่างถูกต้อง และการออกกำลังกาย ร่วมกับการลดน้ำหนัก ลดไขมันสะสม และเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ เนื่องจากเซลล์กล้ามเนื้อเป็นเซลล์ที่นำน้ำตาลในเลือดไปใช้ได้อย่างดีมาก

 

การออกกำลังกายมีประโยชน์ในการรักษาเบาหวานตรงที่

เวลาที่เราออกกำลังกาย ร่างกายจะมีการนำน้ำตาลในเลือดไปใช้มากขึ้น คนที่ไม่ได้เป็น เบาหวานการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยป้องกันโรคนี้ได้ถึงร้อยละ 50 เพราะเวลาเราออกกำลังกาย ก็เหมือนกับมีตัวช่วยดึงน้ำตาลไปใช้มากขึ้น นอกจากนี้ การออกกำลังกายยังมีผลกับเซลล์กล้ามเนื้อ ซึ่งเมื่อรวมทั้งตัวแล้วถือว่าเป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในการนำน้ำตาลไปใช้ ขณะเดียวกันถ้าเป็นเบาหวานแล้ว การออกกำลังกายที่พอเหมาะ ก็จะทำให้กล้ามเนื้อดึงน้ำตาลไปใช้ได้มากขึ้น ภาวะดื้อต่ออินซูลินก็จะ ลดน้อยลง หมายความว่าอินซูลินปริมาณเท่าเดิมแต่สามารถลดน้ำตาลได้ดีขึ้น

การออกกำลังกายช่วยในการควบคุมน้ำหนัก ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ความจริงไม่ใช่คนไข้ทุกคนจะน้ำหนักเยอะ แต่สำหรับคนที่น้ำหนักเยอะมีเซลล์ไขมันมาก จะทำให้ การควบคุมน้ำตาลทำได้ยากขึ้น เพราะเซลล์ไขมันไม่ได้ใช้พลังงาน คือไม่ใช้น้ำตาล การควบคุม คือ ลดน้ำหนัก และเพิ่มปริมาณกล้ามเนื้อให้ได้ จะทำให้การทำงานของระบบเผาผลาญในร่างกายทำงาน ได้ดีขึ้น

การออกกำลังกายยังมีประโยชน์ต่อผลเกี่ยวเนื่องจากโรคเบาหวาน คือทำให้หัวใจแข็งแรง ป้องกันโรคหัวใจ และช่วยป้องกันความดันโลหิตสูง

 

การออกกำลังกายในคนไข้เบาหวาน

คนไข้เบาหวานทุกคนควรปรึกษาแพทย์ และตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยสายพานก่อนเริ่มออก กำลังกายที่หนักกว่าการเดินธรรมดา ทั้งนี้เพราะผู้ที่เป็นเบาหวานจัดว่ามีความเสี่ยงในขณะออกกำลังกายกาย เหมือนผู้ที่เป็นโรคหัวใจเลยทีเดียวเรียกว่าเมื่อเริ่มออกกำลังกายควรเริ่มภายใต้การดูแลของแพทย์และ บุคคลากรฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ มีการติดตามดูแลกันอย่างใกล้ชิด แต่ถ้าปฏิบัติตามหลักที่ดีที่สุดไม่ได้ อาจจะเริ่มออกกำลังกายด้วยตนเองเบาๆ เน้นที่ระยะเวลา ไม่เน้นที่ความหนักเบา

หลักการเหมือนการออกกำลังกายทั่วไป ประกอบด้วย 4 แบบคือ การออกกำลังกายแบบแอโรบิก การออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน การยืดคลายกล้ามเนื้อ และฝึกการทรงตัว ต้องมีการวอร์มอัพคูลดาวน์ และควรออกกำลังกายในระดับเบาถึงปานกลาง (ไม่เกินความเหนื่อย ระดับที่เดินเร็วๆ) อย่างน้อยวันละ 20 นาทีขึ้นไป โดยค่อยๆเริ่มเช่นถ้าเดินได้ 10 นาที ก็ 10 นาที แล้วพักแล้วจึงเดินต่อเท่าที่ทำได้ แต่มีข้อควร ระวังเพิ่มเติมในคนไข้เบาหวาน คือ

  • คนไข้เบาหวานจะมีการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติบกพร่อง เช่น ระบบควบคุมการเต้น ของหัวใจ และระบบควบคุมความดันจะเปลี่ยนแปลงไป บางคนปลายเส้นประสาทชา ไม่ใช่แค่ปลายมือ ปลายเท้า แต่ระบบประสาทรับความรู้สึกทั่วตัวจะเสีย เช่น เราพบว่าคนไข้เบาหวานที่เป็นโรคหัวใจ น้อยกว่าครึ่งจะรู้สึกเจ็บหน้าอก เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องสำคัญทีเดียว บางคนไปออกกำลังกายโดยไม่มีอาการเจ็บ ทั้งที่หัวใจขาดเลือดในช่วงเวลาที่ออกกำลังกาย จึงต้องรู้จักสังเกตอาการอื่นแทน เช่น ระดับความเหนื่อย พยายามอย่าให้เกินระดับเหนื่อยปานกลาง คือ เท่าๆกับเวลาเดินเร็ว และ ขณะออกกำลังกายยังพูดคุย กับคนข้างๆ ได้
  • คนไข้เบาหวานที่ได้รับการรักษาอยู่ จะมีระดับน้ำตาลในเลือดทั้งสูงและต่ำได้ ก่อนออกกำลังกาย คนที่น้ำตาลในเลือดสูงเกินไปคือวัดได้เกินกว่า 250 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ควรควบคุมน้ำตาลให้ได้ก่อน ไปออกกำลังกาย ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดการช็อคได้ ขณะเดียวกันถ้ามีระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลง จนเหลือน้อยกว่า 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ก่อนออกกำลังกายจะเสี่ยงต่อภาวะน้ำตาลต่ำ ควรต้องชดเชยน้ำตาล (ดูการชดเชยน้ำตาลในเรื่องภาวะน้ำตาลต่ำ) เสียก่อนถึงเริ่มออกกำลังกาย

คนไข้เบาหวานจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มโปรแกรมออกกำลังกาย เพราะอาจเกิดภาวะ แทรกซ้อนมาก อาจต้องมีการเจาะเลือดวัดระดับน้ำตาลทั้งก่อนและหลังออกกำลังกาย เพื่อดูว่า ระดับน้ำตาลเท่าไรจะได้ปรับชดเชยน้ำตาลระหว่างนั้นได้ถูกต้องเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไข้ ที่ได้รับอินซูลิน

อีกข้อที่สำคัญมากสำหรับคนเป็นเบาหวานคือ รองเท้า เพราะการออกกำลังกายอาจกระตุ้น ให้มีการบาดเจ็บที่เท้าได้ หากเป็นแผลโดยคนไข้ไม่รู้สึกเจ็บ ก็อาจทำให้เกิดการลามเป็นแผลใหญ่โต จนอาจถึงขั้นต้องตัดเท้าได้ ผู้ป่วยเบาหวานต้องดูแลทำความสะอาดเท้าทุกวัน ระวังอย่าให้มี การหมักหมม ชื้นแฉะ  รองเท้าที่ใส่ต้องพอดีกับเท้า มีอุปกรณ์รองรับการกระแทก หากมีแผลอยู่แล้ว ก็ไม่ควรใส่รองเท้า แบบหุ้มปิดมิดชิด

   

    อาการน้ำตาลต่ำที่เกิดขึ้นในขณะ หรือ หลังการออกกำลังกาย

  • ส่วนมากจะมีอาการเหงื่อแตก ใจสั่น หน้าซีด อ่อนเปลี้ยเพลียแรง พูดจาเริ่มไม่ค่อยรู้เรื่อง หน้ามืดหรืออาจเป็นลมหมดสติได้ ถ้ามีอาการดังกล่าวควรหยุดออกกำลังกายและทดสอบระดับน้ำตาล ถ้าทำได้ ถ้าระดับน้ำตาลต่ำกว่า 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ให้เลือกรับประทานอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ (ในกรณีที่ไม่มีเครื่องวัดระดับน้ำตาลและเกิดอาการขณะที่ออกกำลังกายให้ชดเชยน้ำตาลก่อนได้)
  • น้ำตาลก้อน 2-3 ก้อน
  • น้ำผลไม้ ½ ถ้วย (ประมาณ 120 มิลลิลิตร)
  • เครื่องดื่มที่ไม่ควบคุมความหวาน เช่น น้ำแดง น้ำอัดลม (ที่ไม่ได้ใช้สารเพิ่มความหวาน) ½ ถ้วย
  • นม 1 ถ้วย (ประมาณ 240 มิลลิลิตร)
  • ลูกอม 5-6 เม็ด
  • น้ำผึ้งหรือน้ำตาล 1-2 ช้อนชา

หลังจากนั้น 15 นาทีควรตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดอีกครั้ง ถ้ายังต่ำให้รับประทานเพิ่มได้ เพื่อความปลอดภัยในขณะที่ออกกำลังกายควรพกลูกอมหรือน้ำตาลก้อนเพื่อรักษาอาการน้ำตาลในเลือด ต่ำ โดยเฉพาะในคนที่มีการแกว่งของระดับน้ำตาลมาก หรือควบคุมน้ำตาลได้ไม่ค่อยดี

คนไข้เบาหวานอาจเริ่มออกกำลังกายเองได้ง่ายๆด้วยการค่อยๆทำแบบน้อยๆก่อน เช่น เดิน 10-20 นาที ยกน้ำหนักเบาๆหรือออกกำลังกายแบบผสมผสาน ควรเตรียมน้ำตาลหรือลูกอม ใส่กระเป๋าเอาไว้ เผื่อเกิดอาการน้ำตาลต่ำ ถ้าให้ดีควรมีป้ายชื่อบอกไว้ว่า เราเป็นเบาหวาน ให้เพื่อนหรือคนอื่นรู้ว่า ถ้ามีอาการให้หยิบน้ำตาลในกระเป๋าให้เรากิน อาการต่างๆก็จะดีขึ้น

ถึงแม้คนเป็นเบาหวานอาจเกิดปัญหาจากการออกกำลังกายด้ แต่การออกกำลังกายนั้นจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนที่เป็นเบาหวาน หรือ มีความเสี่ยงที่เริ่มจะเป็นเบาหวาน (ขบวนการเกิดโรคเริ่มไปแล้วแต่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานจากตัวเลขการเจาะเลือด) การออกกำลังกายที่เหมาะสมและถูกต้องจะทำให้คนที่เป็นเบาหวานอยู่แล้วก็จะควบคุมน้ำตาลได้ง่ายขึ้น และลดความเสี่ยงอันตรายจากภาวะแทรกซ้อนทางเบาหวาน เช่น โรคหัวใจ สมอง และไต และลดโอกาสเสียชีวิตเฉียบพลันได้ดี

สำหรับคนที่ขบวนการเบาหวานเกิดแล้วแต่น้ำตาลยังไม่ผิดปกติจนได้รับวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานก็อาจป้องกันการเป็นเบาหวานได้ ลดความเสี่ยงต่างๆลงได้เช่นเดียวกัน  จะทำให้การควบคุมความดันโลหิตและไขมันผิดปกตินั้นได้ดีและง่ายขึ้นด้วย…

ทั้งนี้ ต้องการการออกกำลังกายที่เหมาะสมถูกต้อง เท่านั้นที่เป็นยาวิเศษ ร่วมกับการควบคุมอาหาร

 


 

 


สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ LINE สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก

เพิ่มเพื่อน

 


 

สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก ยินดีให้คำปรึกษาและพร้อมแนะนำโปรแกรมที่เหมาะสมให้แก่คุณ

สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก เวชศาสตร์ฟื้นฟูผสมผสาน | Rehabilitation & Wellness Center | Center for Brain

Line Official : @arunhealthgarden (มีเครื่องหมาย @) (https://lin.ee/kVkb3zA)

facebook.com/arunhealthgarden

instagram : arunhealthgarden

Tel : 02-717-4441 หรือ 094-812-7722

หมวดหมู่

คลังเก็บ