fbpx

กระตุ้นการทำงานระบบประสาทอัตโนมัติด้วยการฝึกหายใจ แบบ 4-7-8 - Arun Health Garden

แพทย์หญิง ปิยะนุช รักพาณิชย์

___อาจารย์ของหมอ Dr.Andrew Weil ได้เน้นว่าการฝึกหายใจอย่างมีสติ นอกจากจะช่วยเรื่องการนอน คลายเครียด วิตกกังวลแล้ว ยังช่วยเรื่องการทำงานของระบบการย่อยอาหาร กระเพาะ ลำไส้ อีกด้วย Dr.Andrew Weil จะสอนคนไข้ทุกคนให้ฝึกการหายใจ 4-7-8 เป็นพื้นฐานของการมีสุขภาพที่ดี

___เมื่อหมอได้มาศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ของ สมอง-ระบบย่อยอาหาร หรือ Gut-Brain Connection ถึงเข้าใจว่าการฝึกหายใจแบบ 4-7-8 นี้จะช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติเวกัส ซึ่งเป็นหนึ่งในสองของระบบประสาทอัตโนมัติที่สำคัญในร่างกายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานหลายระบบ เช่น ระบบย่อยอาหาร การหายใจ เป็นต้น

___การฝึกหายใจแบบ 4-7-8 ที่อาจารย์ Andrew Weil สอนนั้นมีความแตกต่างจากการฝึกหายใจธรรมดาตรงนี้เอง การหายใจออกผ่านทางปากให้มีเสียงผ่านลิ้นที่ดันเพดานปากไว้ เป็นการกระตุ้นเส้นประสาทเวกัสด้วย วิธีการฝึกไม่ยาก เมื่อทำเป็นแล้วจะนั่งหรือนอนก็ได้ แต่เมื่อเริ่มฝึก ให้ฝึกในท่านั่งตัวตรงก่อน

วิธีการฝึก

  1. เริ่มต้นด้วยการใช้ลิ้นแตะที่เพดานปากด้านบนตำแหน่งหลังฟันบน ซึ่งตำแหน่งของลิ้นจะอยู่บริเวณนี้ตลอดการฝึก
  2. หายใจออกทางปากให้สุด โดยจะมีเสียงที่เกิดขึ้นจากการที่ลมหายใจออกผ่านตำแหน่งของลิ้นที่จ่ออยู่ที่เพดานปากด้านหลังฟันบน (whoosh sound)
  3. ปิดปากให้สนิท แล้วหายใจเข้า(ไม่มีเสียง)ทางจมูก ขั้นตอนนี้ นับ 1-4
  4. กลั้นลมหายใจไว้ ขั้นตอนนี้นับ 1-7
  5. หายใจออกทางปาก ตามแบบข้อ 2 ขั้นตอนนี้นับ 1-8 แล้วจึงเริ่มหายใจเข้าใหม่

*ทั้งหมดนี้คือ 1 ลมหายใจของการฝึก ให้ฝึก ทั้งหมด 4 ลมหายใจ วันละ 2 รอบ

จุดสำคัญคือ

  • ความสำคัญของการฝึกคือ อัตราส่วน 4-7-8 (โดยลมหายใจออกจะยาวเป็นสองเท่าของลมหายใจเข้า) และความสม่ำเสมอในการฝึก
  • ถ้ากลั้นลมหายใจแล้วรู้สึกอึดอัดมึนศีรษะ ให้ปรับจังหวะการนับให้เร็วขึ้นได้โดยคงอัตราส่วน 4-7-8 ไว้ ฝึกไปสักระยะอาการมึนศีรษะจะดีขึ้นเอง
  • เดือนแรกของการฝึก ไม่ควรฝึกเกิน ครั้งละ 4 ลมหายใจ วันละ 2 รอบ ไม่จำเป็นต้องทำบ่อยครั้ง หลังจากนั้นอาจจะเพิ่มเป็น 8 ลมหายใจได้
  • ถ้าฝึกเป็นประจำ 6-8 สัปดาห์ จะสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย หัวใจจะเต้นช้าลง ความดันโลหิตลดลง ระบบการย่อยอาหารดีขึ้น นอนหลับได้ง่ายขึ้น ลดความเครียด วิตกกังวล ซึ่งแสดงถึงการปรับตัวของระบบประสาทอัตโนมัติไปในทางที่ดีขึ้น

หมวดหมู่

คลังเก็บ