ศ.นพ.นิธิ มหานนท์
แต่ไหนแต่ไรมา ทางการแพทย์ได้เน้นว่า หน้าที่ของแพทย์ คือ รักษาโรคให้หาย (Curing Disease) เรียกว่า แพทย์คนไหนเก่ง ก็คือแพทย์ที่รักษาโรคให้หายได้เร็วและหายขาด และดัชนีชี้วัดการรักษาของแพทย์ก็มักจะเป็นว่า โรคที่รักษาหายหรือไม่ ตายน้อยลงหรือไม่ กลับมาเป็นใหม่หรือเปล่า
ความเป็นจริงแล้ว (และจะเห็นสัจธรรมนี้มากขึ้นเรื่อยๆเมื่ออายุมากขึ้น) มีโรคอยู่ไม่กี่โรคที่แพทย์รักษาให้หายขาดหรือหายสนิทแล้วไม่กลับมาเป็นอีก ในขณะที่บางโรคสามารถป้องกันได้ และในขณะที่อีกหลายๆโรค การรักษาอย่างหนึ่งอาจจะก่อให้เกิดความเจ็บป่วยอย่างอื่นตามมา เช่น ผลข้างเคียงจากยาที่รักษา เป็นต้น มีโรคหลายโรคที่แพทย์แผนปัจจุบันที่ว่าเก่งแสนเก่ง ไม่เคยอธิบายได้ ไม่เคยรักษาหรือป้องกันได้ แต่ทางการแพทย์โบราณทั้งจีนและไทยรู้ว่า ดีและรักษาหาย เช่น โรคร้อนใน เป็นต้น
การรักษาโรคหรืออาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยนั้น บางครั้งแพทย์เองก็รู้ว่า การรักษาที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญอยู่มีขีดจำกัด การศึกษาทางด้านการแพทย์ที่ตนเองร่ำเรียนมาเป็นสิบยี่สิบปีไม่สามารถช่วยผู้ป่วยได้ครบถ้วนกระบวนความอย่างที่คิด แม้ว่าจะส่งคนไข้ไปปรึกษากับแพทย์ปัจจุบันที่เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆก็ใช่ว่าจะช่วยให้ผู้ป่วยทุกคนดีขึ้นได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ บางครั้งเสียอีกที่คนไข้เองกลับต้องไปหาวิธีการรักษาที่ (ยัง) ไม่เป็นที่ยอมรับในปัจจุบันไปแล้ว ก็ยังปิดบังแพทย์ซะอีกเพราะกลัวจะโดนต่อว่า
คนไข้ของผมคนหนึ่ง เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่รักษากันมานาน วันหนึ่งเขาบ่นว่าปวดไหล่ ผมดูแล้วไม่เกี่ยวกับโรคหัวใจ (อาการปวดไหล่อาจจะเป็นอาการหนึ่งของโรคหัวใจได้) เลยส่งให้แพทย์แผนปัจจุบันรักษาเรื่องข้อไหล่อักเสบ หลายเดือนถัดมาก็ยังไม่ดีขึ้นแถมยาแก้ปวดก็รับประทานมากไม่ได้เพราะมีทั้งโรคหัวใจ เบาหวานและความดันโลหิตสูง (คนที่เป็นโรคเหล่านี้ไม่ควรรับประทานยาแก้ปวดข้อติดต่อกันนาน) เมื่อหมดหนทางผมจึงต้องส่งไปหาหมอฝังเข็มแผนจีน ไม่กี่หนเธอก็กลับมายิ้มร่า หายปวดไหล่ ความดันที่เคยสูงก็ไม่ต้องใช้ยาควบคุมต่อไป
การรักษาที่ทางการแพทย์แผนปัจจุบันยังไม่เป็นที่ยอมรับ (ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ) นี้เรียกว่า การแพทย์ทางเลือก (Alternative หรือ Complementary Medicine) การรักษาเหล่านี้หลายๆ อย่างเป็นการรักษาที่หลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยเองมีมาแต่โบร่ำโบราณ (การแพทย์แผนโบราณเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการแพทย์แนวนี้) เช่น การนวด การฝังเข็ม การสะกดจิต การใช้พลังลมปราณ บางส่วนของโลกเริ่มมีแพทย์แผนอนาคต (ผมแต่งชื่อเอง) เช่น การใช้พลังงานกระแสไฟฟ้า/สนามแม่เหล็ก เป็นต้น หรือจริงๆแล้ว อาจจะไม่ใช่การรักษาเป็นเรื่องเป็นราว แต่เป็นสิ่งที่ทำต่อเนื่องมาในวิถีชีวิต ซึ่งถ้าปฏิบัติอย่างถูกต้องแล้ว อาจจะมีผลต่อสุขภาพที่ดีได้ เช่น การรับประทานอาหารบางอย่างในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันนี้ถือว่าเป็นการรักษาอย่างหนึ่งแล้ว เช่น อาหารของประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียนที่ประกอบไปด้วยน้ำมันมะกอก ถั่ว ผักสด เป็นต้น
ประเทศไทยก็มีหลักการรับประทานอาหารที่สอนกันมาช้านาน เช่น กินทุเรียนแล้วต้องกินมังคุด ซึ่งปัจจุบันมีการศึกษาว่า มังคุดเป็นผลไม้ที่มีแอนติออกซิแดนท์ (สารต้านอนุมูลอิสระ) สูง อาจจะเป็นเหตุผลที่กินคู่กับทุเรียน (ซึ่งปริมาณแคลอรีมากและไขมันสูง) ก็เป็นได้ หรือเครื่องเทศ พริก กระเทียม ขิง ขมิ้นที่เป็นเครื่องปรุงหลักของอาหารไทย ซึ่งเป็นสมุนไพรที่ทางการแพทย์ทางเลือกถือว่า เป็นอาหารต้านภาวะอักเสบ ที่การแพทย์แผนปัจจุบันพบว่า น่าจะเป็นสาเหตุเบื้องต้นของโรคเรื้อรังหลายโรค รวมทั้งโรคหลอดเลือดหัวใจที่เคยเชื่อกันว่า เกิดจากแผ่นคราบไขมันอุดตันหลอดเลือดแต่ปัจจุบันพบว่า อาจจะตั้งต้นมาจากผนังหลอดเลือดอักเสบ แล้วจึงเกิดกระบวนการต่อเนื่องที่ทำให้แผ่นคราบไขมันเกาะผนังหลอดเลือดจนหลอดเลือดอุดตันในที่สุด
ทำไมการแพทย์แผนปัจจุบันถึงไม่เชื่อในการรักษาของการแพทย์ทางเลือก
ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า การแพทย์แผนปัจจุบันสอนให้เชื่อตามหลักฐานการวิจัย (เชื่อตามตัวเลข ตามหลักการสถิติ) ทางการแพทย์ ที่มีขั้นตอนแบบแผนเฉพาะในการวิจัยเท่านั้น เช่น ยาลดระดับไขมันในเลือดสักตัวหนึ่ง ก่อนจะนำมาใช้ต้องผ่านการทดลองวิจัยว่ายานี้ใช้ได้ผล (คือ ลดระดับไขมันในเลือด) ถึงระดับที่ (ตั้งกันเอาไว้ว่า) เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยส่วนใหญ่ (“ส่วนใหญ่”นี้คือที่นักวิทยาศาสตร์และแพทย์กำหนดกันเอง แต่ก็ยังมีอีก “ส่วนน้อย” ที่ไม่ได้ประโยชน์) โดยที่อันตรายหรือผลข้างเคียงของยาอยู่ในระดับที่รับได้ (รับได้นี้ก็กำหนดกันเองอีกเหมือนกัน คือ มีส่วนน้อยที่ยังจะมีผลข้างเคียงบ้าง) การที่จะได้ผลงานวิจัยออกมาเป็นที่ยอมรับดังกล่าวจำนวนผู้ป่วยที่เข้าร่วมวิจัยต้องมากพอ ยาต้องมีประสิทธิภาพสูง (ยาส่วนใหญ่แม้สกัดมาจากพืชแต่ก็ต้องผ่านการปรุงให้เข้มข้น นั่นหมายถึง ผลข้างเคียงอาจจะสูงแต่ไม่บ่อย)
ในขณะที่การรักษาแบบทางเลือกส่วนใหญ่ ไม่ได้มีการวิจัยที่ใหญ่และผ่านขั้นตอนของการวิจัยแผนปัจจุบัน แต่เป็นการสืบทอดต่อกันมา (ในกรณีการรักษาแผนโบราณ) อาศัยการเฝ้าสังเกต (Observe) และการเรียนจากผู้รู้และการถ่ายทอดแบบตัวต่อตัว (Apprenticeship) การวิจัยแบบวิทยาศาสตร์สถิติแผนปัจจุบันอาจจะไม่เหมาะสมในการวิจัยสำหรับแพทย์แผนทางเลือกก็เป็นได้ เพราะการรักษาแบบแผนทางเลือกส่วนใหญ่นั้นมีรายละเอียดค่อนข้างมาก คือ ใช้ศิลป์มากกว่าใช้ (วิทย์) ศาสตร์ ไม่ได้เจาะจงที่ให้โรคหรืออาการอย่างใดอย่างหนึ่งหายเพียงอย่างเดียว ไม่มีตัววัดที่เป็นตัวเลขอย่างเดียว เน้นที่ความรู้สึกที่ดีขึ้น (ซึ่งคือเรื่องของจิต) แผนปัจจุบันเน้นที่เรื่องทางกายภาพ (ทางพุทธ คือ “รูป”) ส่วนแบบทางเลือกหลายๆอย่างเป็นเรื่องของทั้งจิตใจ (คือ “นาม” ทางพุทธ) และกายภาพ (รูป)
ยกตัวอย่างเช่น ผลการวิจัยของกระเทียมหรือขิงที่ดูไม่ไปในทิศทางเดียวกัน บางการวิจัยก็ว่าช่วยเรื่องลดความดันโลหิต บางการวิจัยก็ว่าไม่มีผลทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่าสิ่งที่มาเกี่ยวข้องมีตั้งแต่แหล่งของกระเทียม การเก็บรักษา การปรุง และการบริโภค ซึ่งต่อให้อยู่ในรูปการกินเป็นแบบอาหารเสริมก็ไม่ได้สกัดมาให้เข้มข้นในรูปแบบของยา ดังนั้น ผลดีที่ได้อาจจะต้องเป็นแบบค่อยๆดีขึ้น เปรียบเป็นเส้นกราฟก็คือ ค่อยๆไต่ระดับไปทีละหน่อย ไม่ใช่เป็นแบบพุ่งทะยาน ดังนั้น ผลออกมาจึงไม่ชัด (ทางสถิติ) ทั้งนี้ไม่รวมถึงผลของขิงหรือกระเทียมทางด้านจิตใจ ซึ่งไม่อาจวัดผลเป็นตัวเลขได้ หรือผลของมันต่อส่วนประกอบอาหารอื่นๆที่อาจมีผลต่อความดันโลหิตได้
สรุปแล้วทั้งสองอย่าง (แผนปัจจุบันและแผนทางเลือก) มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังนั้น ถ้าจะให้ดีอาจจะต้องเอามาผสมผสานกันให้พอเหมาะพอดี หรือที่เรียกว่า Integrative Medicine (การแพทย์ผสมผสาน) แต่การจะทำอย่างนั้นได้ แพทย์ผู้รักษาต้องรู้ว่า จะผสมผสานอย่างไรให้ออกมาเป็นประโยชน์สูงสุดกับผู้ป่วยได้ แพทย์ต้องรู้และยอมรับวิชาการของทั้งสองศาสตร์
คนไข้ของผมคนหนึ่งมีอาการเจ็บหน้าอก เพราะเป็นโรคหลอดเลือด หัวใจเส้นฝอยตีบ (Syndrome X) ซึ่งอาจจะรักษายากยิ่งกว่าหลอดเลือดหัวใจเส้นใหญ่ตีบเสียอีก ผมให้ยารักษามานานจนหมดทุกขนาน ในที่สุดมาดีขึ้นเพราะ EECP หรือเครื่องนวดขากระตุ้นการทำงานของหัวใจ ซึ่งอาการก็ดีได้สักระยะหนึ่ง ก็กลับมามีอาการอีกจนไม่รู้จะรักษาอย่างไรดี ผมก็เลยเอาเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าลดปวดมาติดตรงหน้าอก (ประมาณว่า คล้ายยาผีบอก แต่จริงๆแล้ว มีรายงานทางการแพทย์ทางเลือดว่า นำมาใช้ได้ผลในบางราย) ไม่น่าเชื่อว่า เธอดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ที่ว่าดีขึ้น คือ อาการของเธอหาย ลดยาหลายอย่างที่เคยให้ ตอนนี้สำหรับอาการเจ็บหน้าอก เธอไม่ต้องใช้ทั้งยา เครื่องนวดที่ขา หรือแม้กระทั่งการกระตุ้นไฟฟ้าที่หน้าอกอีกแล้ว อาการหายจางมาหลายปีแล้วและเมื่อตรวจหัวใจอีกครั้งด้วยวิธีของแพทย์แผนปัจจุบัน แผนที่ว่าไว้ที่สุด แม่นยำที่สุดก็ไม่พบว่า เธอมีหัวใจขาดเลือดเหลืออยู่เลย
การแพทย์ผสมผสานที่ว่านี้ ในต่างประเทศแม้แต่ในสหรัฐอเมริกามหาวิทยาลัยแพทย์ที่มีชื่อหลายแห่งมีแผนกนี้กันแล้ว การให้บริการนอกจากมีทางการแพทย์ต่างๆข้างต้นแล้ว ยังรวมถึงการทำสมาธิ สะกดจิต ล้างพิษ ฝังเข็ม อายุรเวท ให้อาหารหรือวิตามินเสริม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ได้เน้นเรื่องการหายทางกายภาพอย่างเดียว แต่ควรให้ความสำคัญในเรื่องจิตใจและจิตวิญญาณของแต่ละคน ซึ่งไม่ใช่ (ส่วนใหญ่)จะใช้ตามหลักสถิติเท่านั้น
ฟังดูแล้วเหมือนล้าสมัยแบบล้ำยุค แต่การจะปักใจเชื่อว่า วิธีไหนเหมาะกับเรานั้น ผมแนะนำให้คิดพิจารณาให้ดี หลักการของผมมีว่า ถ้าวิธีไหนคุยว่ารักษาหายหมดทุกโรคทุกราย ไม่มีข้อเสียเลยอันนี้โกหกแน่
อย่าปักใจเชื่อ เพราะ……เขาว่า
อย่าเชื่อ เพราะ……ผู้รู้ว่าไว้
อย่าเชื่อ เพราะ…..เพียงแค่ว่า เหตุผลฟังดูน่าเชื่อ
สมัยนี้ต้องเพิ่มว่า อย่าเชื่อ เพราะ…..เห็นว่ามีชื่อมีเสียงดี
อย่าเชื่อ เพราะ…..เห็นว่ามีคนนิยม
และอย่าเชื่อ เพราะ…..เห็นโฆษณาว่าดี (ตรงกันข้ามครับ ของดีต้องไม่โฆษณา)
….ท้ายที่สุด ขอให้ทุกท่านได้เชื่อ ได้เห็น และได้รู้ตามความจริง