ปวดกล้ามเนื้อ มัยโอฟาสเชี่ยลเพน (myofascial pain)
เป็นปัญหาที่พบบ่อยมาก มัยโอฟาสเชี่ยลเพนไม่ใช่โรคใหม่ แต่การเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือวงการแพทย์ทำให้โรคนี้ถูกมองข้ามได้ไม่ยาก จึงคิดว่ามีความจำเป็นต้องกล่าวถึงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการแพทย์โดยสังเขปให้ผู้ป่วยมัย myofascial pain ได้พิจารณาดังนี้
หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ได้ทำศัลยกรรมเปลี่ยนโฉมหน้าของวงการแพทย์ไปอย่างมหาศาล องค์ความรู้และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีทำให้การแพทย์สมัยใหม่เรืองรองไปทั่วทุกมุมโลกอย่างรวดเร็ว จนแทบจะไม่เหลือพื้นที่ให้กับการแพทย์แผนโบราณอีกต่อไป ตั้งแต่บัดนั้นการแพทย์แผนโบราณที่เคยเป็นการรักษาหลักจึงถูกช่วงชิงตำแหน่งและตกอันดับไปเป็นการแพทย์ทางเลือก และความแรงของการแพทย์สมัยใหม่ก็เป็นไปอย่างต่อเนื่องจนในบางประเทศโดยเฉพาะอเมริกาและยุโรปจนดูราวกับว่ากาลปาวสานของการแพทย์แผนโบราณเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้นอีกต่อไป คงเหลือไว้เพียงตำนาน แต่เมื่อความเห่อจางหายความจริงก็ปรากฏให้รู้ว่าการแพทย์สมัยใหม่ถึงแม้จะมีประโยชน์เหลือหลายแต่ก็มีจุดอ่อนบางจุดที่ไม่สามารถดับรัศมีการแพทย์แผนโบราณได้ และหนึ่งในนั้นช่างบังเอิญเหลือเกินที่เป็นปัญหาปวดเรื้อรังที่พบบ่อยมากๆๆ คือโรคที่มีจุดปวดในกล้ามเนื้อ โรคนี้การแพทย์แผนใหม่เคยคิดว่าไม่มีจริงเป็นเรื่องที่ผู้ป่วยคิดไปเอง เพิ่งจะมายอมรับกันทั่วไปในระยะหลังนี้ และให้ชื่อโรคนี้ว่า มัยโอฟาสเชี่ยลเพน หรือ myofascial pain และเรียกจุดปวดนี้ว่า trigger point ในขณะที่การแพทย์แผนโบราณไม่ว่าจะเป็นแผนจีนหรือแผนไทยนั้นคุ้นเคยกับเรื่องจุด จุดนี้มานับพันปีในบริบทของจุดฝังเข็ม (acupuncture point) หรือจุดนวด (acupressure point) สำหรับชื่อไทยของ myofascial pain บางท่านที่นิยมใช้บริการนวดแผนโบราณอาจจะได้ยินครูนวดวินิจฉัยว่าเป็นโรค “ลมปลายปัตฆาต” ส่วนรักษาได้ผลดีเพียงไรลองคิดดูกันเองนะครับ ถ้าจะบอกว่า myofascial pain นี่แหละที่นอกจากปลุกกระแสนวดไทยแผนโบราณ และฝังเข็มของจีน ให้ฟื้นคืนชีพแล้วยังระบาดไปทุกทวีปจนเป็นที่ยอมรับของวงการแพทย์แผนใหม่ให้อยู่ร่วมเวทีเดียวกันในรูปของการแพทย์แบบผสมผสาน เข้าตำรา “เก่าแต่เก๋า”
วันนี้จึงอยากให้ทำความคุ้นเคยกับปัญหาใกล้ตัว ปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง myofascial pain พระเอกผู้กู้ศักดิ์ศรีภูมิปัญญาไทยและจีนกัน เพราะเชื่อว่าหลายท่านมีปัญหานี้แต่ไม่รู้ตัว
ครับ นิยามของ myofascial pain ก็คืออาการปวดตามตำแหน่งต่างๆจากจุดกดเจ็บในกล้ามเนื้อ ฟังแล้วให้ความรู้สึกดิบๆ ซื่อๆ บ้านๆ ก็ไม่ต้องแปลกใจเพราะเป็นนิยามตามภูมิปัญญาพื้นบ้าน ที่มักจะไร้เดียงสา เรียบง่าย ไร้จริต แต่สื่อให้เข้าใจง่าย และคงหายข้องใจว่าทำไมโรคนี้จึงพบบ่อยมาก เพราะสาเหตุคือการใช้กล้ามเนื้อเกินความสามารถของต้นทุน ชาวไร่ชาวนาและกรรมกรที่งานหนักก็ปวดยอกเรื้อรัง ชาวกรุงหรือคนเมืองทำงานไม่หนักแต่นานแถมต้นทุนคุณภาพกล้ามเนื้อน้อยเพราะไม่มีเวลาออกกำลังก็ปวดเมื่อย กลุ่มนี้คือชาวออฟฟิศ อาการนี้รู้จักกันทั่วไปในชื่อ ออฟฟิศซินโดรม ส่วนนักกีฬาทั้งสมัครเล่นและทีมชาติถึงแม้จะกำยำก็อย่านึกว่าจะเลี่ยงพ้นนะครับเพราะมักจะต้องฝึกซ้อมแบบมหาโหดเกินธรรมชาติ
อาการของ myofascial pain คือปวดร้าวที่มีต้นตอมาจากจุดปวด trigger point นั่นเอง ส่วนที่เป็นเอกลักษณ์คือจุดปวดแต่ละจุดจะมีรูปแบบการปวดร้าวจำเพาะจุด นอกจากนี้ยังมีอาการร่วมอีกมากมายแต่ที่พบบ่อยได้แก่
อาการร่วมที่พบบ่อยใน myofascial pain ได้แก่อาการทางระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น ถ้ามีอาการปวดบริเวณบ่า คอ และศีรษะ มักจะมีอาการมึนศีรษะ หูอื้อ ตาพร่า เป็นอาการร่วม
ถ้ามีอาการบริเวณแขนขา มักจะมีอาการหรือรู้สึกว่าแขนขาเย็นๆซีดๆเหมือนเลือดลมไม่เดินเป็นครั้งคราว บางรายอาจมีเหงื่อออกในบริเวณนั้นมากกว่าปกติ
ด้วยเหตุที่ myofascial pain เกิดได้ทุกส่วนของร่างกายที่มีกล้ามเนื้อ ทำให้เลียนแบบโรคอื่นๆตามตำแหน่งที่มีอาการได้บ่อย ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ myofascial pain ของกล้ามเนื้อบ่า และกล้ามเนื้อคอ จะมีอาการคล้ายกระดูกคอเสื่อม ปวดหัวไมเกรน ส่วน myofascial pain กล้ามเนื้อหลังอาจให้อาการปวดร้าวลงตะโพกและขาคล้ายอาการของหมอนรองกระดูกสันหลังทับรากประสาทขา
ทำไมยาแก้ปวด ยาต้านการอักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ จึงไม่ค่อยได้ผลตามคาดหวัง ปัจจุบันความรู้ทางวิทยาศาสตร์สามารถตอบโจทย์นี้ได้ เรื่องก็คือถึงแม้จะพบว่ามีสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบยาต้านการอักเสบก็แทรกซึมเข้าไปแก้ไขปัญหาไม่ได้เพราะการไหลเวียนของเลือดบกพร่องที่จุดนี้ อีกทั้งพบว่าที่จุดนี้ใยกล้ามเนื้อจะขมวดกันแน่นเกินความสามารถของยาคลายกล้ามเนื้อที่จะสลายได้ หลายท่านที่ช่างสังเกตุจะพบว่าเวลาปวดมากๆจุดนี้จะขมวดเกร็งเป็นก้อน เป็นลูก หรือเป็นลำแข็งตึงของกล้ามเนื้อได้
ก่อนจะพูดถึงการรักษาขอยกตัวอย่างจุดปวดที่พบบ่อย 5 อันดับต้นๆ ลองดูกันครับ
สำหรับการรักษา ดังที่กล่าวเบื้องต้นนะครับ โรคนี้นวดแผนโบราณ ฝังเข็มแบบตำนาน ได้ผลดีมาก โดยการนวดจะไปคลายการขมวดตัวของใยกล้ามเนื้อที่จุดนี้ ส่วนเข็มที่ปักลงตรงจุดก็เป็นการสลายอาจจะใช้คำว่าทำลายจุดปวดนี้ก็ได้ เมื่อร่างกายซ่อมแซมทุกอย่างก็กลับสู่สภาพปกติหรือเกือบปกติแต่ดีกว่าเดิมที่เป็นจุดปวด ปัจจุบันในโรงพยาบาลเกือบทุกแห่ง จะมีแพทย์ปริญญาที่ทำการรักษาด้วยฝังเข็ม นอกจากนี้เครื่องมือทางกายภาพบางอย่าง ได้แก่ คลื่นอุลตร้าซาวด์ คลื่นช๊อคเวฟ แสงเลเซอรณ์รักษา ก็มีผลในการรักษาจุดปวด myofascial pain ได้เช่นกัน
ในรายที่หงุดหงิดรำคาญไม่หายขาดสักทีหรือหายเพียงชั่วคราว ต้องรักษาที่สาเหตุต้นตอคือพฤติกรรมซ้ำซ้อนในการใช้งานร่างกาย วิธีที่ได้ผลชะงัดคือ
- เสริมสร้างสมรรถภาพ หรือถือว่าเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับร่างกาย โดยการออกกำลังแบบแอโรบิกอย่างสม่ำเสมอสม่ำเสมอครับ แต่ต้องอุ่นเครื่องด้วยการยืดสายคลายจุดก่อนทุกครั้ง แล้วจึงต่อยอด option นี้ถ้าทำได้สุดยอดเพราะได้เต็มๆทุกระบบของร่างกาย
- ใช้ร่างกายให้ถูกสุขลักษณะ ถือว่าเป็นการลดการขาดทุน โดยจัดโครงสร้างร่างกายให้ได้สมดุลขณะทำงาน ถ้าเป็นสุภาพสตรีก็ปรับภาพลักษณ์ให้ดูราว สวย เริด เชิด หยิ่ง สุภาพบุรุษก็ อกผายไหล่ผึ่ง และต้องสังเกตุหรือเรียนรู้สมรรถภาพของตัวเรา เพื่อพักร่างกายเป็นระยะ ไม่ต่างอะไรกับการขับรถระยะทางไกลที่ควรมีพักเครื่องเป็นระยะกันเครื่องรวน ถ้ามีการยืดคลายกล้ามเนื้อร่วมด้วยจะได้ผลดีมาก (สนใจ ศึกษาได้จากบทความ ออฟฟิศ โยคะ ชำระอาการ ออฟฟิศ ซินโดรม ของ สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก)
ใครที่เป็นโรคนี้ คือปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง myofascial pain คุณมีเพื่อนเยอะสุดเพราะเป็นกันถ้วนหน้า ถ้าขี้เกียจหรือไม่มีเวลา (ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือข้อแก้ตัวของความขี้เกียจ) ก็เดินหน้าต่อไป ได้ที่เมื่อไรก็ไปนวดแผนไทยสักหนสองหน ร่างกายก็คล้ายรถ ใช้ไปได้ระยะหนึ่งก็ล้างอัดฉีดซะที อ่านแล้วขอให้จับใจความสำคัญได้ว่า อย่ากลัวอย่ากังวลมากไป โรคนี้ไม่อันตรายแต่อาจเสียหายร้ายแรงได้ถ้าถูกวินิจฉัยพลาดเป็นโรคอื่นที่น่าขนลุก ดังจะเคยได้ยินกันว่าเป็นไมเกรน กระดูกเสื่อม หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท รักษามาหมดอะไรที่ว่าไฮเทคแต่ไม่หาย แต่มาอยู่หมัดกับการนวดการฝังเข็ม ก็ให้ดีใจนะครับว่าที่แท้คือ myofascial pain โรคใกล้ตัวที่รักษาได้ผลดีด้วยวิถีโบราณ ครับทุกเรื่องราวมีสองด้านเสมอ การแพทย์สมัยใหม่ไร้เทียมทานหรือสุดขอบในเกือบทุกเรื่อง แต่สำหรับ myofascial pain พระเอกวันนี้ที่ดึงๆให้เราไม่ตกกรอบ ด้วยรูปแบบ retro ย้อนยุค หรือบ้านๆแบบ vintage ที่กระแสกำลังหวนกลับ
นพ.ประดิษฐ์ ประทีปะวณิช