fbpx

กินกระเทียม...ดีอย่างไร? - บทความโดย ศ.นพ. นิธิ มหานนท์ - Arun Health Garden

 

กระเทียมเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่คนไทยใช้กันมานานในการปรุงอาหาร และถูกใช้เป็นยาช่วยบรรเทาอาการต่างๆ และรักษาโรคมาตั้งแต่สมัยโบราณ ไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น เพราะในประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียนหรือประเทศเอเชียอื่นๆ  ก็ใช้กระเทียมเป็นเครื่องปรุงประกอบอาหารที่สำคัญเช่นกัน ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าในกลุ่มอาหารเสริมนั้น กระเทียมเป็นตัวที่ขายดีที่สุดตัวหนึ่ง

 

ในกระเทียมมีสารต่างๆ มากกว่า 200 ชนิด บางอย่างเป็นชนิดที่มีข้อมูลที่ทำให้คิดว่า จะมีส่วนช่วยในการบำรุงสุขภาพ เช่น สารอัลลิซิน (Allicin) ซึ่งเป็นสารประกอบซัลเฟอร์  เป็นสารสำคัญที่ให้กลิ่นและรสชาติเฉพาะตัวของกระเทียม แต่หลายๆ คนก็ไม่เห็นด้วยที่ว่า อัลลิซินนี้เป็นตัวที่เป็นตัวยาในกระเทียม เนื่องจากมันถูกทำลายได้ง่ายเมื่อถูกความร้อนในการทำอาหาร และยังถูกทำลายในร่างกายอย่างรวดเร็วหลังจากรับประทานอีกด้วย

 

ยาหรืออาหารเสริมที่เป็นกระเทียมอัดเม็ดนั้นมีสารประกอบที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับอายุของกระเทียมที่ถูกนำมาผ่านกระบวนการ และยังขึ้นอยู่กับวิธีการทำอัดเม็ดหรือทำเป็นอาหารเสริม และยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่ากระเทียมในรูปกระเทียมผง น้ำมันกระเทียม กระเทียมอัดเม็ด หรือกระเทียมไร้กลิ่น ประเภทไหนจะดีหรือแตกต่างกันอย่างไร

 

กระเทียมรูปแบบต่างๆ นั้นมีคนรับประทานกันอย่างแพร่หลาย เพราะมีความเชื่อว่ากระเทียมสามารถลดระดับคอเลสเตอรรอล ต่อต้านมะเร็งรักษาความดันโลหิตสูง เบาหวาน และการติดเชื้อต่างๆ แม้กระทั่งหวัด

 

จากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน (ซึ่งอย่าเอาไปปนกับข้อมูลความรู้จากการเฝ้าสังเกตมาเป็นพันๆ ปีของยาแผนโบราณนะครับ) พบว่าในสัตว์ทดลอง กระเทียมสามารถลดการเกาะรวมตัวของเกล็ดเลือด (ซึ่งทำให้กระเทียมช่วยป้องกันการอุดตันเฉียบพลันของหลอดเลือดได้) และยังอาจมีฤทธิ์ต่อต้านมะเร็ง และลดระดับคอเลสเตอรอลได้ แต่การศึกษาในคนกลับไม่เห็นผลชัดเจนเหมือนในสัตว์ทดลอง เนื่องจากการทดลองส่วนใหญ่ใช้กระเทียมในรูปแบบที่แตกต่างกัน จึงไม่สามารถวัดปริมาณเปรียบเทียบกันระหว่างการทดลองๆได้

 

ผลการของกระเทียมต่อระดับคอเลสเตอรอลนั้น หลายๆ การวิจัยพบว่ากระเทียมสามารถลดระดับคอเลสเตอรอลลงได้จริงประมาณร้อยละ 10  แต่ก็ยังมีหลายๆ การวิจัยที่พบว่ากระเทียมไม่สามารถลดระดับคอเลสเตอรอลลงได้ มีบทความที่รวมรายงานวิจัยเกี่ยวกับกระเทียมและคอเลสเตอรอลทั้งหมดรายงานว่า จากงานวิจัยทั้งหมด 6  ใน 10 งานวิจัยพบว่า กระเทียมสามารถลดไขมันตัวร้าย (LDL Cholesterolได้จริง ในระดับหนึ่ง ไประยะหนึ่ง

 

มีการศึกษาที่วางแผนศึกษาอย่างถูกต้อง ตีพิมพ์เมื่อหลายปีก่อน ในคน 192 คน พบว่า การรับประทานกระเทียม  1 หัว หรือกระเทียมผง หรือยาหลอกหลังจากการรับประทานได้ไป 6 เดือนแล้ว พบว่าทั้งกระเทียมสด กระเทียมเม็ด หรือกระเทียมผง ไม่ได้ลดระดับคอเลสเตอรอลได้มากไปกว่ายาหลอกเลย

 

ส่วนเรื่องของมะเร็งจากการศึกษาระดับประชากรพบว่า ในหมู่ประชากรที่รับประทานกระเทียมเป็นประจำ มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่ำ แต่อย่างไรก็ดี มีการศึกษาจากประเทศจีนพบว่า การใช้กระเทียมเป็นระยะเวลา 7  ปี ต่อเนื่องกัน ไม่สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารได้

 

สำหรับผลการรักษาภาวะอื่นๆ นั้น มีการศึกษาเล็กๆ ที่พบว่ากระเทียมสามารถลดความดันโลหิตได้เล็กน้อย และป้องกันการเกาะตัวของเกล็ดเลือดได้บ้าง แต่ไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่ากระเทียมสามารถช่วยบรรเทาอาการหวัด หรือรักษาเบาหวานได้ตามที่เชื่อๆกันมา

 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลที่ได้จาการวิจัยตามรูปแบบสถิติ และการวิจัยแผนปัจจุบัน ซึ่งอาจจะเป็นคนละแนวทาง การรักษาใช้ยาสมุนไพร แผนโบราณที่ใช้กันมายาวนานเป็นพันๆปี ก็ฟังหูไว้หูก็แล้วกันนะครับ….อย่าเชื่อเพราะเป็นเหตุเป็นผล…และก็อย่าเชื่อเพราะคำบอกเล่า สืบต่อกันมาด้วย

 

กระเทียมก็มีผลข้างเคียง โดยจะทำให้คนที่รับประทานเลือดออกได้ง่ายเฉพาะเมื่อรับประทานร่วมกับยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด เช่น ยา Warfarin หรือแอสไพริน หรือน้ำมันปลา และกระเทียมยังมีปฏิกิริยากับยา เช่น ยาความดัน ยาเบาหวาน ยารักษาโรคเอดส์ (HIV) ยารักษาโรคมะเร็ง และยาลดไขมันบางตัวด้วย นอกจากนี้กระเทียมยังอาจจะทำให้มีอาการคลื่นไส้ จุกเสียด แน่นท้อง หรือมีลมในท้องมากขึ้นสำหรับบางคนได้

 

สรุปเรื่องกระเทียมที่เป็นอาหารเสริมนั้น ยังไม่พบว่าเกิดประโยชน์ตามความเชื่อจากการศึกษาในปัจจุบัน ถึงแม้ว่ากระเทียมจะลดระดับคอเลสเตอรอล หรือระดับความดันโลหิตได้บ้าง แต่ผลที่ลดได้นั้นก็น้อยมากๆยิ่งถ้าเปรียบเทียบกับการรับประทานอาหารที่เสริมสุขภาพหัวใจที่มีผักและผลไม้มากและไขมันต่ำแล้ว ผลการลดระดับไขมันและความดันก็ยังดีกว่ารับประทานกระเทียมอย่างเดียว

 

กระเทียมในรูปแบบใดจะดีที่สุดนั้นก็ยังไม่ทราบชัดเจนนัก แต่ในคนที่รับประทานแล้วไม่มีผลข้างเคียง การรับประทานกระเทียมเพิ่มในอาหารก็คงไม่มีผลเสีย แต่ก็อย่าลืมว่ากระเทียมในอาหารที่ถูกความร้อนอยู่นานๆ นั้นบางทีประโยชน์ที่มีในกระเทียมอาจจะถูกทำลายไปหมดแล้ว คงเหลือแต่รสชาติที่อร่อยเท่านั้นเอง

 

 


 

 


สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ LINE สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก

เพิ่มเพื่อน

 


 

สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก ยินดีให้คำปรึกษาและพร้อมแนะนำโปรแกรมที่เหมาะสมให้แก่คุณ

สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก เวชศาสตร์ฟื้นฟูผสมผสาน | Rehabilitation & Wellness Center | Center for Brain

Line Official : @arunhealthgarden (มีเครื่องหมาย @) (https://lin.ee/kVkb3zA)

facebook.com/arunhealthgarden

instagram : arunhealthgarden

Tel : 02-717-4441 หรือ 094-812-7722

หมวดหมู่

คลังเก็บ