fbpx

ภาวะดื้ออินซูลิน เพิ่มความเสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์ - Arun Health Garden

 

คนที่เป็นเบาหวาน เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นอัลไซเมอร์ถึง 2 เท่า เมื่อเทียบกับคนที่ไม่เป็นเบาหวาน

แต่ถ้าไม่ได้เป็นเบาหวานแต่มีภาวะดื้ออินซูลิน จะเพิ่มความเสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์หรือไม่?

ภาวะดื้ออินซูลิน คืออะไร?

 

ภาวะดื้ออินซูลิน คือภาวะที่ร่างกายไม่สามารถใช้ฮอร์โมนอินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถ้าเกิดภาวะดื้ออินซูลินขึ้นเป็นเวลานานจะทำให้เป็นเบาหวานได้

 

อินซูลินเป็นฮอร์โมนที่หลั่งจากตับอ่อน ทำหน้าที่ในการให้เซลล์ต่างๆในร่างกายนำนำ้ตาลกลูโคสไปใช้เป็นพลังงาน เมื่อมีภาวะดื้ออินซูลินเกิดขึ้น ตับอ่อนจะพยายามหลั่งฮอร์โมนอินซูลินเพิ่ม เพื่อให้เซลล์นำนำ้ตาลไปใช้ได้ดังเดิม ในระยะแรกๆ ตับอ่อนยังทำงานไหวอยู่ ระดับนำ้ตาลในเลือดยังเป็นปกติได้ เมื่อมีภาวะดื้ออินซูลินนาน ตับอ่อนไม่สามารถทำหน้าที่ได้ดีเหมือนเดิม ระดับนำ้ตาลในเลือดจะเพิ่มขึ้น เป็นเบาหวานในที่สุด

 

เราจะรู้ได้อย่างไร…ว่ามีภาวะดื้ออินซูลินหรือไม่

ภาวะดื้ออินซูลินมักจะพบในกลุ่มอาการอ้วนลงพุง หรือ metabolic syndrome ซึ่งประกอบไปด้วยความผิดปกติหลายๆ อย่างร่วมกัน อย่างน้อย 3 ใน 5 ข้อต่อไปนี้

  • เส้นรอบเอว > 80 เซนติเมตร ในผู้หญิง และ > 90 เซนติเมตร ในผู้ชาย
  • ระดับน้ําตาลในเลือด > 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  • ไขมันไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) > 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  • ไขมันเอชดีแอล (HDL) < 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้หญิง หรือ < 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้ชาย
  • ความดันโลหิต > 130/85 มิลลิเมตร ปรอท

 

คำนวนภาวะดื้ออินซูลินได้ด้วยการตรวจเลือดดูค่าอัตราส่วนระหว่างฮอร์โมนอินซูลินและระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร เรียกว่าค่า HOMA-IR (Homeostatic Model Assessment of Insulin Resistance) ค่ามากกว่า 1.9 คือมีภาวะดื้ออินซูลิน

 

มีภาวะดื้ออินซูลินเสี่ยงเป็นโรคร้ายหลายโรค

 

แม้จะยังไม่เป็นเบาหวาน ( คนที่เป็นเบาหวานคือค่าระดับนำ้ตาลในเลือดหลังอดอาหาร >  126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) แต่เริ่มมีภาวะดื้ออินซูลิน ก็เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลายอย่างได้แก่ โรคเบาหวาน หลอดเลือดหัวใจตีบ หลอดเลือดสมองตีบ/แตก โรคไต มะเร็ง และอัลไซเมอร์

 

งานวิจัยทางการแพทย์ที่ทำในคนปกติวัยกลางคนพบว่า คนที่มีภาวะดื้ออินซูลิน ความจำและการทำงานของสมองจะลดลงและสมองจะมีการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบที่คล้ายคลึงกับคนไข้อัลไซเมอร์มากกว่ากลุ่มที่ไม่มีภาวะดื้ออินซูลิน และเมื่อทำการศึกษาในคนไข้อัลไซเมอร์ที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน แต่มีภาวะดื้ออินซูลิน เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่มีภาวะดื้ออินซูลิน ก็พบว่ากลุ่มคนไข้ที่มีภาวะดื้ออินซูลิน สมองจะฝ่อมากกว่าและเมตาบอลิซึมของการใช้กลูโคสในสมองก็ลดลงมากกว่า ซึ่งแสดงถึงพยาธิสภาพในสมองที่บ่งชี้ความรุนแรงของอัลไซเมอร์มากขึ้นในกลุ่มคนไข้อัลไซเมอร์ที่มีภาวะดื้ออินซูลินนั่นเอง

 

ถ้ามีภาวะดื้ออินซูลินต้องแก้ไข

เราควรจะรู้ว่าเรามีภาวะดื้ออินซูลินหรือไม่ เพราะถ้ามีภาวะดื้ออินซูลิน อย่ารอให้เป็นเบาหวาน แล้วค่อยรักษา เพราะการรอให้เป็นเบาหวานแล้วค่อยรักษา ช้าเกินไปแล้วสำหรับผู้ที่ต้องการมีสุขภาพดี แม้ว่าภาวะการดื้ออินซูลินจะเกิดจากสาเหตุหลายอย่าง แต่ส่วนใหญ่แล้วการแก้ไขภาวะดื้ออินซูลินให้กลับมาปกตินั้น สามารถทำได้ด้วยการปรับไลฟ์สไตล์ให้ดีขึ้น ได้แก่ คุมอาหาร เช่น ลดแป้ง น้ำตาล นำ้หวาน ผลไม้หวาน ออกกำลังกาย ลดนำ้หนัก พักผ่อนให้เพียงพอ ภาวะดื้ออินซูลินก็ดีขึ้นได้

 

แก้ไขภาวะดื้ออินซูลินให้หาย เพื่อป้องกันสมอง หัวใจและหลอดเลือด ให้สุขภาพดีและแข็งแรงก่อนที่จะสายเกินไป

 


 

บรรณานุกรม

Ariel A et al. Association of Insulin Resistance With Cerebral Glucose Uptake in Late Middle–Aged Adults at Risk for Alzheimer Disease. JAMA Neurology, 2015

Femmienella GD, et al. Does insulin resistance influence neurodegeneration in non-diabetic Alzheimer’s subjects? Alzheimers Res Ther. 2021

หมวดหมู่

คลังเก็บ