fbpx

'อาหาร' กับ 'โรคอัลไซเมอร์' - บทความโดย ศ.นพ. นิธิ มหานนท์ - Arun Health Garden

 

ในปัจจุบัน (ปี พ.ศ 2567) โรคอัลไซเมอร์นั้นยังเป็นโรคที่ไม่มีการรักษาที่ได้ผลชัดเจน เนื่องจากเรายังไม่ทราบ“สาเหตุ”ที่แท้จริงของโรค เราทราบแค่เพียง“ความเสี่ยง”บางประเภทมีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคได้เช่นยีนส์บางตัว ระดับน้ำตาลสะสม(Hb A1c) ความอ้วน ยา หรือการไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตามมีรายงานผลงานวิจัยว่าการออกกำลังกาย และการฝึกสมองสามารถรักษาและป้องกันอาการโรคสมองเสื่อมระยะต้นได้  นอกจากนี้มีรายงานวิจัยว่า อาหารเมดิเตอเรเนียน (Mediterranean Diet) และอาหารวีแกน (Vegan Diet) ส่งผลดีต่อสุขภาพสมองและอาจช่วยป้องกันหรือบรรเทาอาการของโรคอัลไซเมอร์ได้เช่นกัน

 

อาหารเมดิเตอเรเนียน มีส่วนผสมหลักประกอบด้วยผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด ถั่ว น้ำมันมะกอก และปลา หลายงานวิจัยพบว่าอาหารเมดิเตอเรเนียนมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์และการเสื่อมสภาพของสมอง นอกจากนี้ยังช่วยปรับปรุงการทำงานของสมองในผู้สูงอายุโดยมีกลไกจากการที่อาหารเมดิเตอเรเนียนมีสารต้านอนุมูลอิสระ ไขมันไม่อิ่มตัว และสารต้านการอักเสบที่ดีต่อสุขภาพสมอง

 

สำหรับอาหารวีแกน ส่วนผสมหลักประกอบด้วยพืชผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด ถั่ว และเมล็ดพืช โดยที่ทั้งหมดไม่มีส่วนผสมจากสัตว์ งานวิจัยชี้ว่าการทานอาหารวีแกนอาจช่วยลดความเสี่ยง ของโรคอัลไซเมอร์ เนื่องจากอาหารพืชมีสารอาหารที่ส่งผลดีต่อสมอง เช่น วิตามิน อี และโฟเลต และมีสารต้านอนุมูลอิสระและสารต้านการอักเสบในปริมาณมาก แต่การรับประทานอาหารวีแกนนั้นต้องมั่นใจว่าได้รับโปรตีน แคลเซียม วิตามิน B12 และกรดไขมันโอเมก้า-3 เพียงพอ เพื่อสนับสนุนสุขภาพโดยรวมและสุขภาพสมอง

 

ควรทราบว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับประโยชน์จากแนวทางอาหารเดียวกัน การปรับเปลี่ยนอาหารควรทำอย่างสมดุลและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพก่อนเสมอ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน หัวใจ โรคไต หรือในผู้สูงอายุ

 

ในภาพรวมจากอาหารทั้งสองประเภทข้างต้นจะเห็นได้ว่า มีสิ่งมีเหมือนกันคือ มีอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ สารที่ลดการอักเสบเรื้อรัง มีงานวิจัยที่ชี้ว่าการกินอาหารบางชนิด อาจช่วยบรรเทาอาการและป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้ อาหารที่มักแนะนำในแนวทางนี้คือ

 

  1. อาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ผักใบเขียว ผลไม้ต่าง ๆ เบอร์รี่ เป็นต้น

 

  1. ปลาที่มีไขมันโอเมก้า-3 สูง เช่น ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล

 

  1. ถั่วและเมล็ดพืช เช่น อัลมอนด์ วอลนัท เมล็ดแฟลกซ์ ถั่วลิสง และถั่วต่างๆ

 

  1. ธัญพืชเต็มเมล็ด เช่น ควินัว คูสคูส ข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง ขนมปังธัญพืช

 

  1. น้ำมันมะกอก หรือ น้ำมันอโวคาโด น้ำมันรำข้าว ใช้แทนน้ำมันปรุงอาหารอื่น ๆ

 

  1. กาแฟและชา (ในปริมาณที่พอดี) มีสารที่ช่วยส่งเสริมการทำงานของสมอง

 

  1. เครื่องเทศ เช่น ขมิ้น ที่มีสารเคอร์คูมินช่วยลดการอักเสบในสมอง

 

  1. ช็อกโกแลตดำ มีฟลาโวนอยด์ที่ดีต่อสุขภาพสมอง

 

ที่สำคัญในอีกมุมมองหนึ่งที่หลายๆคนอาจลืมคืออาหารที่ควรหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคและภาวะสมองเสื่อมนั้นคือ

 

– อาหารต่างๆ รวมทั้งผลไม้ที่มีรสชาติหวาน

– อาหารประเภทแป้งคาร์โบไฮเดรตขัดสี

– เครื่องดื่มที่มีรสหวานทุกประเภทรวมถึงที่ใช้สาร(เคมี)ให้ความหวานแทนน้ำตาล

– และอาหารที่ผ่านขบวนการทางอาหารมีสาร(เคมีที่ไม่ใช่อาหารของสิ่งมีชีวิต)เช่นแต่งกลิ่น ปรุงรส สารปรับความนุ่ม แข็ง หรือความกรอบเป็นต้น (Ultra Processed Food)

– เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

– ยานอนหลับ และยาคายเครียดต่างๆ

 

ในเรื่องอาหารนั้นการเคร่งครัดในอาหารอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไปอาจทำให้ขาดความสมดุลทั้งสารอาหารที่จำเป็นและพลังงานที่ร่างกายต้องใช้ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่การย่อยและการดูดซึมอาหารเปลี่ยนแปลงไป  การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพสมองที่ดีนั้นจึงควร

  • ควรรับประทานอาหารจากพืชเป็นส่วนใหญ่ โดยอาจมี เนื้อสัตว์ที่ให้โปรตีนที่มีคุณภาพบ้างโดยต้องระวังเรื่องปริมาณโปรตีนที่ต้องได้ให้เพียงพอ เพื่อรักษามวลกล้ามเนื้อไม่ให้ลด
  • รับประทานอาหารให้หลากหลายทั้งชนิดและที่มาของอาหาร
  • รับประทานอาหารแต่พอดี
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงที่กล่าวไว้ข้างต้น

สำหรับผู้สูงอายุที่จะรับประทานอาหารจากพืชอย่างจริงๆจังๆ  ขอแนะนำให้ตรวจดูความเข้มข้นของเม็ดเลือดและ วัดมวลกล้ามเนื้อไว้อย่างสม่ำเสมอด้วย เพราะ อาจได้วิตามิน สารอาหารและโปรตีนจำเป็นไม่เพียงพอได้  โดยจะให้ได้ผลดีเต็มที่ก็ควรทำร่วมกับการออกกำลังกายแบบ     แอร์โรบิค และแบบต้านแรงต้านเป็นประจำห้าหกวันต่ออาทิตย์ด้วย

 

บทความอ้างอิงเกี่ยวกับอาหารเมดิเตอเรเนียน
  1. Scarmeas, N., Stern, Y., Tang, M. X., et al. (2006) Mediterranean diet and risk for Alzheimer’s disease. Annals of Neurology.
  2. Gu, Y., Luchsinger, J. A., Stern, Y., et al. (2010) Mediterranean diet, inflammatory and metabolic biomarkers, and risk of Alzheimer’s disease. Journal of Alzheimer’s Disease.
งานวิจัยเกี่ยวกับอาหารวีแกน
  1. Fraser, G. E. (2009) Vegetarian diets: what do we know of their effects on common chronic diseases? The American Journal of Clinical Nutrition.
  2.  Morris, M. C., et al. (2005) Dietary folate and vitamins B-12 and B-6 not associated with incident Alzheimer’s disease. Journal of Alzheimer’s Disease.

 

 


 

 


สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ LINE สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก

เพิ่มเพื่อน

 


 

สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก ยินดีให้คำปรึกษาและพร้อมแนะนำโปรแกรมที่เหมาะสมให้แก่คุณ

สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก เวชศาสตร์ฟื้นฟูผสมผสาน | Rehabilitation & Wellness Center | Center for Brain

Line Official : @arunhealthgarden (มีเครื่องหมาย @) (https://lin.ee/kVkb3zA)

facebook.com/arunhealthgarden

instagram : arunhealthgarden

Tel : 02-717-4441 หรือ 094-812-7722

หมวดหมู่

คลังเก็บ