fbpx

รับมือ COVID-19 แบบจิตไม่ตก - Arun Health Garden

เรื่อง : นายแพทย์ภาณุวัฒน์ พุทธเจริญ

เวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก


 

นับจากมีการแพร่ระบาดของ  COVID-19 จนถึงวันนี้เราอยู่กับสถานการณ์นี้มาสามเดือนกว่าแล้วนะครับ ผมเชื่อว่าหลายท่านเฝ้าติดตามสถานการณ์กันรายวัน หรือ อาจจะรายชั่วโมง อัพเดทข่าวสารจากทั่วโลกตลอดเวลา

 

หลายคนมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปจากผลกระทบหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ อีกทั้งต้องเฝ้าระวังตัวเองและคนในครอบครัว รวมถึงตัวเองในที่ทำงาน…จิตตก เครียด กันบ้างไหม???

 

ถ้าใครยังไม่เคยประเมินความเครียดตัวเอง ผมขอแนะนำว่าต้องรีบทำแล้วครับ สามเดือนกับความตึงเครียดที่เราไม่รู้ตัว สามารถทำให้เกิดความผิดปกติของร่างกายได้ครับ ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพทั้งทางกาย และจิตใจในระยะยาวได้

 

มาดูกันครับว่า “อาการจิตตก” ทีทางการแพทย์ให้ความสำคัญและคุณๆ ควรให้ความใส่ใจ มีอะไรบ้าง

 

กลุ่มแรก   : อาการประเภทซึมและเศร้าครับ  อาจมีอาการหดหู่แบบไม่ทราบสาเหตุ รู้สึกหมดพลัง คิดวนเวียนในทางลบ บางคนรู้สึกอ่อนไหวง่ายถึงขั้นน้ำตาไหลโดยไม่ทราบสาเหตุ

 

กลุ่มที่สอง : อาการกังวลไปหมด วิตกกับทุกเหตุการณ์ ทุกข่าวตามหน้าสื่อ กังวลไปถึงอนาคตจนเสียสมาธิกับกิจวัตรประจำวันตรงหน้า  วันๆ มัวแต่คิดกังวลไปข้างหน้าอย่างเดียว ตื่นเต้น ตื่นตัวตลอดเวลา

 

กลุ่มที่สาม :  เป็นทั้งสองแบบข้างต้น กังวล สลับ ซึมเศร้า คือ ระบบรวนไปหมดครับ

 

กลุ่มสุดท้าย :  ไม่ออกอาการทางจิตใจชัดเจนครับ  แต่มีอาการทางร่างกายแปลกๆ หลายอย่าง เช่น ปวดหัว ปวดท้อง อ่อนเพลีย ล้าๆ หมดแรงง่าย เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ

 

ไม่ว่าจะมีอาการแบบกลุ่มไหนในข้างต้น อย่าได้นิ่งนอนใจนะครับ เพราะถ้าเป็นอาการจิตตก จากภาวะเครียดเรื้อรัง นอกจากจะมีความเสี่ยงต่อภาวะโรคทางจิตใจ เช่น ภาวะซึมเศร้าแล้ว ยังส่งผลให้ภูมิต้านทานต่ำ ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายมากขึ้น หรืออาจส่งผลกระทบต่อระบบฮอร์โมนต่างๆ ภายในร่างกายได้นะครับ

 

สำหรับคำแนะนำขอบอกว่า  ต้องพยายามอยู่กับข้อเท็จจริงนะครับ แล้วค่อยๆ ดูจากตัวเองก่อนว่า สถานการณ์จริงรอบตัวตามวิถีชีวิตของเราเป็นอย่างไร

 

พยายามหลีกเลี่ยงการมองเหตุการณ์ที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตตัวเอง เพื่อลดความกังวลที่เกินกว่าเหตุ เช่น ถ้าไปเครียดกับสถานการณ์แย่ๆ ของประเทศอื่นอีกฟากโลก จนลืมไปว่าสภาพแวดล้อม พฤติกรรมของประชาชน บริบททางสังคม  และระบบการให้บริการทางสาธารณสุขที่มีความแตกต่างกันนั้น อาจส่งผลต่อสถานการณ์ที่แตกต่างกันด้วย

 

ดังนั้นขอให้อยู่กับสิ่งใกล้ตัว ตั้งสติ แล้วดูว่าวิถีชีวิตของเราตอนนี้ สามารถปรับเปลี่ยนอะไรได้แค่ไหน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริงในปัจจุบัน

 

พยายามมองหามุมบวกในชีวิตที่ทำให้เรายังคงมีความสุขกับกิจวัตรประจำวันที่ง่ายๆ และยอมรับความจริงว่าสถานการณ์ยังคงดำเนินต่อไป

พยายามถามตัวเองว่าเราทำได้ดีที่สุดแค่ไหน อะไรที่อยู่นอกเหนือการควบคุมก็ต้องปล่อยวางให้ได้ เพราะถ้าจิตตกต่อเนื่อง อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพแน่ๆ ก่อนที่จะมีโอกาสติดเชื้อ COVID19 ด้วยซ้ำ

 

สุดท้าย อย่าลืมดูแลตัวเอง และคนรอบข้างกันนะครับ

หมวดหมู่

คลังเก็บ