ความดันโลหิตสูง
คุณณัฐเป็นโรคหัวใจตั้งแต่อายุยังน้อยและได้ทำบอลลูนขยายหลอดเลือดไปจนเมื่อสองปีที่แล้ว คุณณัฐถูกส่งมาหาหมอเพราะเจ้าตัวเกิดอาการเหนื่อย และแน่นหน้าอกทุกครั้งเวลาวิ่ง หมอหัวใจตรวจร่างกาย ทุกอย่างแล้วไม่เจออะไร ขดลวดเคลือบยาที่ใส่ไว้ขยายหลอดเลือดก็ยังเป็นปกติดี จนเกิดคำถามว่าตกลงแล้ว คุณณัฐเป็นอะไรกันแน่
ปกติแล้วคุณณัฐชอบออกกำลังด้วยการยิงปืน ที่ไม่ใช่แบบยืนยิง แต่เป็นยิงปืนในสนามคล้ายๆ การเล่นเพนท์บอล ซึ่งต้องใช้พลังงานเยอะทีเดียว แต่เมื่อวิ่งแล้วเกิดอาการผิดปกติ เขาจึงไม่กล้ากลับไปยิงปืน ซึ่งเป็นกีฬาสุดโปรด
หมอเลยต้องให้คุณณัฐมาเข้าโปรแกรมออกกำลังแล้วติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด หมายถึง มีบุคลากร ทางการแพทย์ที่ฝึกมาทางด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจและหลอดเลือดดูแลอย่างใกล้ชิดขณะออกกำลังกาย ร่วมกับการวัดความดันโลหิต ระดับออกซิเจน ในเลือดและติดคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย ปรากฏว่าสิ่งที่พบคือ ความดันโลหิตของคุณณัฐขึ้นสูงมากๆ ทั้งที่แค่เริ่มเดินไปได้นิดเดียวยังไม่ทันออกวิ่งด้วยซ้ำ ความดันจากปกติ (130/80) ขึ้นไปเป็น 180/100 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งเวลาคุณณัฐมาตรวจที่โรงพยาบาลความดันโลหิตจะอยู่ในระดับปกติ หมอถึงได้บอกเสมอว่าการวัดระดับความดันแค่ครั้งเดียวไม่สามารถบอกอะไรได้แน่ชัด อาการของคุณณัฐที่ความดัน พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วแสดงว่าการออกกำลังแบบนี้หนักเกินไปสำหรับเขา ซึ่งคนไข้ไม่เคยรู้ตัวเลยว่าความดันพุ่งขึ้น ขนาดนั้นแล้ว จนกระทั่งเกิดอาการไม่สบาย แน่นๆ เจ็บๆ ที่หน้าอก ถ้าปล่อยให้ความดันโลหิตสูงมากๆ อาจเกิดอันตราย ทำให้หลอดเลือดในสมองตีบหรือแตกได้
หมอจึงปรับการออกกำลังของคุณณัฐให้เบาลงกว่าเดิมเพื่อให้ร่างกายค่อยๆ ปรับระดับความดันอย่าง เหมาะสม พร้อมกับจับคุณณัฐลดน้ำหนักลงจาก 100 กิโลกรัมเหลือ 93 กิโลกรัมในเวลา 3-4 เดือน (น้ำหนักที่ ประมาณ 10 กิโลกรัมจะช่วยลดระดับความดันได้ 5-20 มิลลิเมตรปรอทเลยทีเดียว)
ขณะเดียวกันก็ต้องควบคุมอาหารที่รับประทานให้มีระดับเกลือโซเดียมน้อยกว่า 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งจะช่วยลดความดันได้ 2-8 มิลลิเมตรปรอท การกินอาหารแบบเน้นอาหารไขมันต่ำ ผัก ผลไม้ และธัญพืช จะลดความดันได้ 8-14 มิลลิเมตรปรอท ส่วนการออกกำลังสม่ำเสมอจะลดความดันได้ประมาณ 4-9 มิลลิเมตรปรอท
ปริมาณที่ลดลงนี้อาจดูเหมือนน้อย แต่มีการศึกษาพบว่า ระดับความดันโลหิตที่ลดลง 3-4 มิลลิเมตรปรอท จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้ร้อยละ 5-9 ลดโอกาสเกิดหลอดเลือดในสมองตีบ หรือแตกได้ร้อยละ 8-14 และลดอัตราการเสียชีวิตโดยรวมจากระดับความดันที่ลดลงเพียงแค่นี้ได้ถึงร้อยละ 4
เพราะฉะนั้นการดูแลพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนไข้จะช่วยลดอันตรายจากความดันโลหิตสูงลงได้เยอะ
ในที่สุดคุณณัฐก็เริ่มรู้สึกดีขึ้น ร่างกายแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆจนตอนท้ายก็สามารถกลับไปยิงปืนได้เหมือน เดิมแล้ว
เมื่อก่อนเราเคยเชื่อว่าความดันโลหิตสูงเป็นภาวะปกติที่เกิดเมื่ออายุมากขึ้นทำให้ปล่อยไป ไม่จำเป็น ต้องรักษา แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ คำแนะนำล่าสุดบอกว่าทุกคนควรรักษาระดับความดันให้ต่ำกว่า 130/80 มิลลิเมตรปรอท ถ้าเป็นคนทั่วไปที่ยังไม่มีความดันโลหิตสูงควรควบคุมให้อยู่ในระดับ 120/80 มิลลิเมตรปรอท ได้ตลอดไปในทุกช่วงอายุ ความเชื่อที่ว่า เมื่ออายุสูงขึ้น ความดันโลหิตปกติจะสูงขึ้นตามไปด้วยนั้นเป็นความเชื่อที่ผิด!!!
การออกกำลังในคนไข้ความดันโลหิตสูง
การออกกำลังอย่างสม่ำเสมอช่วยป้องกันภาวะความดันโลหิตสูงได้ร้อยละ 30-50 ส่วนคนที่เป็นโรคนี้แล้ว การออกกำลังจะช่วยให้สามารถควบคุมความดันโลหิตได้ดีขึ้น โดยควรออกกำลังให้ครบทั้ง 4 ประเภท คือ แอโรบิก ออกกำลังแบบมีแรงต้าน การยืดคลายกล้ามเนื้อ และฝึกการทรงตัว โดยเน้นเรื่องแอโรบิกเป็นหลัก อย่าลืมปฏิบัติตามหลักในการออกกำลังที่ถูกต้อง โดยออกกำลังขนาดเบาถึงปานกลาง อย่างน้อย 3-5 วันต่อสัปดาห์
แต่มีข้อจำกัดว่า ไม่แนะนำให้ออกกำลังแบบหนักมากเกินไป เพราะการออกกำลังกายที่หนักมากๆ จะมีผลทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงมากขึ้นในขณะนั้น ซึ่งไม่ดีต่อคนไข้ที่มีความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว อันนี้จะต่างจาก คนไข้เบาหวานที่ถ้าค่อยๆฝึกก็ยังพอ ค่อยๆฝึกได้ แต่ในคนไข้ความดันสูงไม่ควรออกกำลังแบบหนักมากจนเกินไป เว้นแต่มีการควบคุมดูแลใกล้ชิด
คนที่มีภาวะความดันโลหิตสูง หลอดเลือดจะแข็งไม่มีความยืดหยุ่น เวลาที่หัวใจบีบเลือดส่งมา แทนที่หลอดเลือดจะคลายและบีบตัวรับเลือด ก็กลับแข็งทื่อเหมือนท่อแข็งๆ ความดันจึงสูงขึ้นตามแรงกระแทกของเลือด การออกกำลังช่วยให้หลอดเลือดมีการขยายตัว เซลล์ผนังหลอดเลือดทำงานได้ดีมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ระบบไหลเวียน ของเลือดมีการใช้งานตลอดเวลาทำให้หัวใจแข็งแรง เลือดไหลกลับสู่หัวใจได้ดี และหลอดเลือดส่วนปลายก็ขยายมากขึ้น ขณะเดียวกันกล้ามเนื้อส่วนต่างๆก็สามารถดึงเอาออกซิเจนจากกระแสเลือดไปใช้ได้มากขึ้นด้วย และมีข้อมูลทางวิชาการที่เกร็งกล้ามเนื้อไว้เฉยๆอย่างถูกต้องและนานพอเป็นการทำแพล๊งกิ้งท่าต่างๆ บางท่าจะลดความดันโลหิตได้ดี เหมือนหรือดีกว่ายา แต่ถ้าใครไม่เคยทำ ขอแนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อได้รับการสอนวิธีทำที่ถูกต้องก่อน
ข้อควรระวังในคนไข้ที่เป็นความดันโลหิตสูง
- ถ้ามีความดันโลหิตสูงมาก ควรปรึกษาแพทย์ก่อน หากเป็นไปได้ระหว่างออกกำลังควรมีการมอนิเตอร์ ดูความดันโลหิตที่เพิ่มขึ้นในขณะที่ออกกำลังกายสักครั้งก็จะดี
- ไม่ควรเริ่มออกกำลังกายถ้าความดันโลหิตขณะพักสูงกว่า 160/100 มิลลิเมตรปรอท ควรพบแพทย์และ ควบคุมระดับความดันโลหิตให้ได้เสียก่อนที่จะเริ่มไปออกกำลังกาย
ถ้ารับประทานยาลดความดันโลหิตอยู่ หลังจากออกกำลังกายแล้ว ระดับความดันโลหิตอาจจะลดลงมาก จนอาจจะมีอาการเวียนศีรษะได้ ควรวัดระดับความดันโลหิตดูถ้าทำได้ การชดเชยน้ำให้พอเพียงในระหว่าง การออกกำลังกายจะช่วยได้บ้าง ถ้าออกกำลังกายต่อเนื่องมานานและความดันโลหิตขณะพักเริ่มลดลง (ซึ่งเป็น ผลดีจากการออกกำลังกาย) และมีอาการมึนงง เวียนศีรษะขณะเปลี่ยนท่าทาง ควรปรึกษาแพทย์ เพราะความดันโลหิต อาจจะต่ำเกินไป แพทย์อาจจะพิจารณาปรับยารักษาความดันโลหิต
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ LINE สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก
สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก ยินดีให้คำปรึกษาและพร้อมแนะนำโปรแกรมที่เหมาะสมให้แก่คุณ
สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก เวชศาสตร์ฟื้นฟูผสมผสาน | Rehabilitation & Wellness Center | Center for Brain
Line Official : @arunhealthgarden (มีเครื่องหมาย @) (https://lin.ee/kVkb3zA)
instagram : arunhealthgarden
Tel : 02-717-4441 หรือ 094-812-7722