fbpx



ปวดเข่า...บรรเทาได้ด้วยการออกกำลังกาย? - Arun Health Garden

 

ปวดเข่าอาจจะไม่ได้เกิดจากข้อเข่าเสื่อมเสมอไป

 

อาการปวดเข่านั้นเกิดได้บ่อย เพราะข้อเข่าเป็นอวัยวะส่วนที่กระดูกสองชิ้นมาต่อกัน โดยมีเพียงหมอนรองกระดูกกั้นอยู่ตรงกลางเท่านั้น ไม่เหมือนข้อต่ออื่นๆ ที่อย่างน้อยยังมีลักษณะของการห่อหุ้มระหว่างกระดูกสองชิ้น เพราะฉะนั้นเข่าจึงไม่ค่อยมีความมั่นคงทำให้เกิดการบาดเจ็บขึ้นได้ง่าย ต้องอาศัยการทำงานของเอ็นและกล้ามเนื้อที่ห่อหุ้มอยู่รอบๆเป็นหลัก

 

เมื่อวัยสูงขึ้น การเสื่อมไปตามวัยของอวัยวะต่างๆเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เข่าก็เป็นอวัยวะหนึ่งที่มักจะมีอาการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นตามวัย เรียกว่าเป็นโรคท๊อปฮิตของความเสื่อมก็ว่าได้ เชื่อว่าทุกคนคงได้ยินคำว่าข้อเข่าเสื่อมมาก่อน ส่วนใหญ่แล้วพออาการปวดเข่าเกิดขึ้นกับวัยกลางคน ที่มักจะเข้าใจกันก็คือ สงสัยเข่าจะเสื่อมเสียแล้ว ซึ่งก็อาจจะถูก (หรือผิด) ก็ได้

ที่หมอเจอประจำคือ คนไข้ที่มีอาการปวดเข่าโดยที่คิดว่าตัวเองเป็นเข่าเสื่อมทั้งๆที่ไม่ได้เป็น คือมักเกิดการบาดเจ็บจากอวัยวะรอบข้อเข่า(ที่มักจะเริ่มเสื่อมก่อนข้อเข่า) มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อ เอ็นรอบข้อเข่า หรือหมอนรองกระดูกข้อเข่า

 

วิธีดูแลรักษาเข่าที่ได้ผลและทุกคนสามารถทำเองได้ง่ายๆ ก็คือ

 

อย่าปล่อยให้น้ำหนักเกิน เพราะเข่าต้องแบกรับน้ำหนักแทบทั้งตัวเอาไว้ โดยเฉพาะเวลาเดินหรือวิ่งซึ่งจะมีช่วงที่เรายืนอยู่บนขาเดียว ทำให้เข่าแต่ละข้างต้องรับน้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า บ่อยๆเข้าก็ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บหรือเสื่อมได้เร็วขึ้น

 

เสริมสร้างให้กล้ามเนื้อรอบข้อเข่าแข็งแรง ด้วยการออกกำลังทำกายบริหารในชีวิตประจำวัน เพื่อให้กล้ามเนื้อรอบข้อเข่าแข็งแรงขึ้น ท่าที่ทำง่ายๆคือการออกกำลังกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า โดยการนั่งเก้าอี้ หลังพิงที่พนักพิง เข่างอประมาณ 90 องศา ค่อยๆเหยียดเข่าขวาขึ้นให้ตรง ยกค้างไว้ นับ 1-10 แล้วเอาลง เปลี่ยนมาทำขาซ้าย เริ่มข้างละ 10 ทีค่อยๆเพิ่มจนได้ 30 ที เมื่อสนุกและแข็งแรงขึ้น อาจเพิ่มแรงต้านเช่น ใช้ถุงทรายหรือยางยืด (ซึ่งแนะนำให้หารือและเรียนท่าที่ถูกต้องจากเทรนเนอร์ หรือ นักกายภาพก่อน)

 

ออกกำลังด้วยท่ายืดเหยียด (Stretching) เพื่อทำให้กล้ามเนื้อรอบข้อเข่ามีความยืดหยุ่น เนื่องจากรอบข้อเข่าจะประกอบด้วยกล้ามเนื้อหลายมัดที่อยู่บริเวณต้นขาด้านหน้าด้านนอกและด้านหลังข้อเข่าที่ยึดเกาะสองข้อคือระหว่างข้อสะโพกหรือกระดูกเชิงกรานกับข้อเข่า เช่น กล้ามเนื้อ Quadriceps,Hamstrings และ Tensor Fascia Latae และระหว่างข้อเข่ากับข้อเท้า ได้แก่กล้ามเนื้อ Gastro Soleus กล้ามเนื้อที่ยึดเกาะสองข้อนี้สำคัญมาก ถ้าไม่ยืดเหยียดก็จะเกิดการยึด ลองนึกถึงภาพคนที่นอนงอก่องอขิง เพราะกล้ามเนื้อยึด ซึ่งจะมีผลทำให้การทำงานของข้อเข่าอยู่ในสภาพไม่สมดุลตามที่ควรจะเป็น จะปวดและเสื่อมได้เร็วขึ้น

 

หลีกเลี่ยงท่วงท่าที่มีผลเสียต่อเข่า เป็นต้นว่า ท่าที่ต้องงอเข่ามากๆ การนั่งพับเพียบ นั่งยองๆ การยกของที่หนักเกินไปขณะที่งอเข่า การบิดเข่าเร็วๆ เช่น ท่าเต้นแอโรบิกโดยไม่ระวัง หรือเดินเร็วๆแล้วหมุนตัวทันทีจะเกิดแรงกระทำต่อเข่าที่ทำให้บาดเจ็บได้ง่าย การที่จะทำท่าต่างๆ เหล่านี้ได้นั้นยังมีความเป็นไปได้ แต่ต้องฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและเอ็นต่างๆ กันนานเป็นปีๆ

 

คนไข้คนหนึ่งอายุ หกสิบกว่า มาหาหมอด้วยเรื่องปวดเข่า เข่าบวม เข่าอักเสบ รักษามานานและรักษาหลายที่แล้ว คุณหมอท่านก่อนๆบอกว่าเป็นเข่าเสื่อม ซึ่งก็มีความเสื่อมจริงๆและรักษาโดยการให้ยาลดการอักเสบ ยาบำรุงกระดูกอ่อนข้อเข่า ทำกายภาพบำบัดโดยใช้ความร้อนระดับลึกช่วย ทำมาเป็นปีๆแล้วคนไข้แค่ดีขึ้นแต่ไม่เคยหายขาด คนไข้คนนี้ถูกส่งมาหาหมอเพราะคนไข้บ่นไอ้ที่ปวดน่ะไม่เท่าไหร่ แต่ขาไม่มีแรง โดยเฉพาะเวลางอเข่าขึ้นบันไดหรือจะลงจากรถ ช่วงที่งอเข่าจะยืนทรงตัวมักเกิดอาการเข่าอ่อนไม่มีแรง หวิดจะหกล้มอยู่บ่อยๆ

 

หมอเอ็กซเรย์ดูก็พบว่ามีการเสื่อมจริงๆแต่ไม่มากนัก เป็นความเสื่อมตามอายุ (คำนี้เป็นคำที่หลายคนไม่อยากได้ยิน!!!) มากกว่า แต่สิ่งที่ทำให้คนไข้มีปัญหาคือเอ็นและกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าอักเสบ เมื่อเอ็นอักเสบเรื้อรังก็ส่งผลให้กล้ามเนื้อที่คลุมรอบข้อเข่าลีบไปด้วย สังเกตขนาดของขาสองข้างจะเห็นได้ชัดเจน ซึ่งเมื่อเป็นอย่างนี้การรักษาด้วยวิธีกินยา ทำการฟื้นฟูและกายภาพบำบัด ด้วยการใช้ความร้อนหรืออัลตราซาว์นลดการอักเสบก็ไม่มีวันทำให้หายขาด เพราะไม่ได้รักษาที่ต้นตอ ตอนแรกที่คุณหมอให้ยามานั้นคนไข้อาจมีเข่าเสื่อมจริงแต่ก็ได้รับยาไปเรียบร้อยแล้ว ผลที่เกิดต่อมาคือตัวกล้ามเนื้อที่อักเสบเรื้อรัง ลีบ ไม่มีแรง การรักษาจึงต้องทำให้เอ็นอักเสบดีขึ้นก่อน และในระยะยาวก็ต้องเน้นออกกำลังเพื่อให้กล้ามเนื้อเข่าแข็งแรง ยืดหยุ่นได้ดีขึ้น และหายสนิท โดยใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์ถึง 2 เดือน

 

สิ่งที่หมออยากบอกคือเมื่อปวดเข่าอย่าคิดว่าเป็นข้อเข่าอักเสบอย่างเดียวเท่านั้น อาจเป็นที่ส่วนอื่นๆรอบข้อเข่า ซึ่งคนปวดเข่ามีส่วนน้อยเท่านั้นที่ต้องการการผ่าตัด ส่วนใหญ่หายจากอย่างอื่นคือการรับประทานยาและการออกกำลังกายเพื่อให้เข่าแข็งแรง

 

ทั้งนี้การออกกำลังกายเพื่อความยืดหยุ่นและแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าได้อยู่ในการออกกำลังกายแบบผสมผสาน ก็มีความสำคัญ ด้วยอย่างมาก โดยที่ต้องไม่ลืมเรื่องน้ำหนักตัวที่เหมาะสมด้วยนะครับ

 


 

 


สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ LINE สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก

เพิ่มเพื่อน

 


 

สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก ยินดีให้คำปรึกษาและพร้อมแนะนำโปรแกรมที่เหมาะสมให้แก่คุณ

สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก เวชศาสตร์ฟื้นฟูผสมผสาน | Rehabilitation & Wellness Center | Center for Brain

Line Official : @arunhealthgarden (มีเครื่องหมาย @) (https://lin.ee/kVkb3zA)

facebook.com/arunhealthgarden

instagram : arunhealthgarden

Tel : 02-717-4441 หรือ 094-812-7722

 

 

หมวดหมู่

คลังเก็บ