โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ส่วนใหญ่แล้วเป็นโรคเดียวกัน มีบางภาวะที่ไม่มีหลอดเลือดหัวใจตีบ แต่มีกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และบางครั้งมีหลอดเลือดหัวใจตีบ แต่กล้ามเนื้อหัวใจไม่ขาดเลือด สองภาวะหลังนี้พบได้ไม่บ่อยนัก มาดูกันที่เรื่องกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และหลอดเลือดที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบที่เป็นเรื่องที่พบร่วมกัน และพบได้บ่อยดีกว่า
หัวใจของคนเราเปรียบเสมือนเหมือนปั๊มน้ำ ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งต้องการเลือดมากบ้างน้อยบ้าง แล้วแต่ว่าอวัยวะนั้นๆ กำลังทำอะไรอยู่ เช่น กระเพาะอาหาร เมื่อมีอาหารตกลงไปก็จะมีการย่อยอาหารช่วงเวลานี้ จึงต้องการเลือดมาเลี้ยงมากขึ้น, ช่วงที่เรากำลังใช้ความคิดหรือเครียด สมองก็จะมีเลือดไปเลี้ยงมากขึ้น หรือช่วงที่เราออกกำลัง กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ก็ต้องการเลือดไปเลี้ยงมากขึ้น เป็นต้น
ช่วงที่เรานอนหลับสนิทในตอนกลางคืน จะเป็นช่วงที่อวัยวะต่างๆ ต้องการเลือดไปเลี้ยงน้อยมาก ช่วงนี้เป็นช่วงที่หัวใจเราได้พักผ่อน คือทำงานเบาที่สุด แต่ถึงกระนั้นก็จะเห็นได้ว่าหัวใจเราต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมง จะหนักบ้างเบาบ้างก็แล้วแต่ช่วงเวลา โดยในหนึ่งวัน หัวใจคนเราเต้น หรือบีบตัวมากถึงประมาณ 1 แสนครั้ง
หัวใจคนเราไม่เคยทำงานตามใจตัวเองได้ ต้องทำตามความต้องการของอวัยวะอื่นๆ ตลอดเวลา อย่างไรก็ดีหัวใจเป็นอวัยวะที่มีกล้ามเนื้อที่ต้องการเลือดมาเลี้ยงตัวเองด้วยเหมือนกัน เมื่อทำงานหนักก็ต้องการเลือดมาเลี้ยงมาก เมื่อทำงานเบาก็ต้องการเลือดมาเลี้ยงน้อยเมื่ออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายต้องการเลือดไปเลี้ยงมากขึ้น หัวใจก็ต้องทำงานหนักมากขึ้นเช่นกัน
หัวใจมีหลอดเลือด 3 เส้นหลัก ที่นำเลือดมาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ขนาดของหลอดเลือดทั้ง 3 เส้นนี้มีเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยประมาณเพียงแค่ 3 มิลลิเมตรเท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้น เลือดที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจใน 1 นาทีก็มากกว่าอวัยวะใดๆ ในร่างกาย
ดังนั้นเราจึงพอเข้าใจได้ว่าปริมาณเลือดมากๆ ที่ผ่านหลอดเลือดที่เล็กๆ นั้น ก็จะทำให้ผนังหลอดเลือดเสื่อมได้เร็วกว่าหลอดเลือดในอวัยวะอื่นๆ จะเห็นได้ว่าหัวใจไม่สามารถทำงานตามใจตัวเองได้ ดังนั้นเราจึงต้องดูแลหัวใจเราไว้ให้ดีๆ
หลายคนพอได้ทราบข้อมูลข้างต้น ก็อาจมีข้ออ้างที่จะไม่ออกกำลังกาย เพราะไม่อยากให้หัวใจทำงานหนัก จริงๆ แล้วการออกกำลังกายนั้นทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นก็จริงอยู่ แต่เป็นการที่หัวใจทำงานหนักขึ้นอย่างมีจังหวะ เช่น จังหวะขณะวิ่ง, เดิน,ว่ายน้ำ หรือถีบจักรยาน การที่หัวใจทำงานหนักขึ้นเป็นจังหวะตามการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ๆ (เช่นแขนและขา) ในลักษณะนี้ จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจใช้เลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น คือถ้าเลือดมาเลี้ยงลดน้อยลงไปก็ยังไม่มีผลอะไร หรือถ้าเปรียบเทียบกับเครื่องรถยนต์ก็เป็นเครื่องที่ประหยัดน้ำมันนั่นเอง
มารู้จักหลอดเลือดหัวใจที่นำเลือดมาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจทั้ง 3 เส้นกัน
เส้นแรกที่ยาวที่สุด คือเส้นที่อยู่ด้านหน้าหัวใจ อีกเส้นหนึ่งอยู่ค่อนไปทางซ้ายเหมือนกับเส้นแรกและมักจะมีต้นขั้วร่วมกัน จะเป็นเส้นที่อ้อมไปอยู่ด้านหลังของหัวใจ เส้นที่สามออกมาจากทางด้านขวา อ้อมไปเลี้ยงหัวใจด้านขวาและส่วนล่าง
หลอดเลือดมีลักษณะเหมือนท่อน้ำ จะนำเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจที่ตัวเองทอดผ่านแล้วให้แตกแขนงออกไป หลอดเลือดเหล่านี้ทอดตัวอยู่บนผิวด้านนอกของหัวใจ ให้แตกแขนงไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจทุกส่วน
เด็กเกิดใหม่ที่ไม่มีปัญหาเรื่องกรรมพันธุ์ของระดับไขมันหรือวิตามินบางประเภทจะมีผนังหลอดเลือดปกติ เมื่ออายุมากขึ้น อาจพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของผนังหลอดเลือดโดยมีการเกาะของคราบไขมัน ซึ่งพบได้ตั้งแต่อายุ 20-30 ปี
เมื่อเวลาผ่านไปคราบไขมันนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงโดยมีเซลล์ต่างๆ และหินปูนเข้ามาสะสมในผนังหลอดเลือด ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “ภาวะหลอดเลือดแข็งตัว”
คราบเซลล์ไขมันและหินปูนที่สะสมอยู่บนผนังหลอดเลือดด้านในนี้ จะเคลือบด้านในของผนังหลอดเลือดทั่วๆ ไป ยิ่งอายุมากยิ่งมีคราบเหล่านี้เกาะมากขึ้น ผนังหลอดเลือดก็แข็งตัวมากขึ้น เปรียบได้กับท่อน้ำที่ใช้งานมานาน ผนังของท่อน้ำนั้นย่อมกลายเป็นสนิมได้
หัวใจคนปกติมีความอดทนมาก หลอดเลือดหัวใจต้องมีเส้นผ่าศูนย์กลางแคบลงมากกว่าร้อยละ 70 จึงจะทำให้เจ้าของหัวใจเริ่มมีอาการ เวลาหัวใจทำงานหนัก (เวลาหัวใจพักทำงานเบาๆ อาจจะยังไม่มีอาการ)
จากคราบไขมันและหินปูนที่เคลือบอยู่ด้วยในผนังหลอดเลือดนี้ จะทำให้หลอดเลือดตีบมากขึ้นได้ มีอยู่ 2 วิธี
วิธีแรก คือ คราบที่สะสมนี้จะค่อยๆ พอกสะสมมากขึ้นทีละน้อย และเมื่อพอกหนาจนทำให้หลอดเลือดตีบมากกว่าร้อยละ 70 ก็จะทำให้คนไข้เริ่มมีอาการ ซึ่งอาการที่ว่าก็คือ อาการเหนื่อย อึดอัด แน่นหรือเจ็บหน้าอกเวลาออกแรง (พักแล้วดีขึ้นได้)
วิธีที่สอง กลไกการเกิดการตีบเพิ่มขึ้นของหลอดเลือดซึ่งเกิดขึ้นบ่อยกว่า คือ คราบไขมันและหินปูนที่เกาะอยู่บนผนังหลอดเลือดด้านในจะมีการแตกร้าวที่ผิวๆ ทำให้เลือดที่ไหลผ่านมาในหลอดเลือดนั้นสัมผัสกับสารต่างๆ ที่อยู่ภายใต้คราบไขมัน ทำให้เกิดการเกาะรวมตัวของเกล็ดเลือด เป็นลิ่มเลือดใหญ่ขึ้นอย่างกระทันหัน
ถ้าร่างกายละลายลิ่มเลือดได้ทันท่วงที ก็จะไม่เกิดการอุดตันของหลอดเลือด แต่ถ้าร่างกายไม่สามารถสร้างสารมาละลายลิ่มเลือดนั้นได้ โดยเฉพาะในรายที่มีเลือดข้นกว่าปกติ เช่นคนที่สูบบุหรี่ เกล็ดเลือดก็จะจับตัวรวมกันเป็นลิ่มเลือดก้อนโต (ประมาณเพียง 3 มิลลิเมตรก็มีผลแล้ว) เกิดการอุดตันอย่างถาวรของหลอดเลือดนั้นได้ จึงไม่มีเลือดผ่านไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้เลย ภาวะนี้ก็คือ การเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือ Heart Attack
การป้องกันการเกิด Heart Attack
-
รักษาระดับคอเลสเตอรอลให้ต่ำๆ จะได้ไม่มีหลอดเลือดที่แข็งตัว
-
ทำให้คราบไขมันและหินปูนที่อาจมีอยู่ไม่เปราะ ผิวจะได้ไม่แตกง่าย ด้วยการ
- ออกกำลังกาย
- ลดระดับไขมันโดยใช้ยาควบคุมระดับไขมัน และควบคุมอาหาร
- ควบคุมระดับน้ำตาล
-
ป้องกันการเกาะตัวของเกล็ดเลือดไม่ให้รวมตัวกันเป็นลิ่มเลือด โดยยาต้านเกล็ดเลือด เช่น ยา แอสไพริน หรือโคลพิโดเกรล (Clopidogrel)
เรื่องใช้ยาแอสไพรินป้องกัน Heart Attack นี้ เคยมีคนไข้ผู้ชายอายุ 60 ปีกว่า มีไขมันในเลือดสูง มาพบครั้งแรกด้วยอาการปวดที่กรามทั้งสองข้างหลังรับประทานอาหาร โดยเฉพาะเวลาเดินออกกำลังหลังอาหาร (ซึ่งหมอหัวใจไม่แนะนำ) ตรวจแล้วจึงพบว่ามีหลอดเลือดหัวใจตีบและรักษาด้วยการขยายหลอดเลือดใส่ขดลวดพิเศษที่มียาเคลือบไป 5 ตัว กลับไปเล่นเทนนิส วิ่งออกกำลังได้เป็นปกติ คนไข้เหล่านี้ต้องรับประทานยาต้านเกล็ดเลือดคือแอสไพรินตลอดชีวิต เพื่อป้องกันหลอดเลือดอุดตันเฉียบพลัน
หลังจากขยายหลอดเลือดไป 5 – 6 เดือน พบคนไข้อีกครั้งหนึ่ง จึงขอดูยาทั้งหมดที่รับประทานอยู่ แปลกใจที่ไม่เห็นมียาแอสไพรินสอบถามไปจึงได้ความว่าคนไข้รับประทานยาแอสไพรินอยู่ได้ 3 – 4 เดือน รู้สึกแสบท้องจึงหยุดยาไป และคิดว่าผมให้ยาแอสไพรินไว้แก้ปวดแผลจึงไปซื้อยาพาราเซตามอลมารับประทานเองทุกวัน
ยาพาราเซตามอลสามารถแก้ปวดศีรษะได้ แต่ป้องกันการปวดหัวใจ (หรือในรายนี้คือปวดกราม) ไม่ได้ เพราะไม่มีฤทธิ์ต้านเกร็ดเลือดหรือการเกิดลิ่มเลือดเหมือนแอสไพริน
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโปรแกรมได้ที่ LINE สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก
สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก ยินดีให้คำปรึกษาและพร้อมแนะนำโปรแกรมที่เหมาะสมให้แก่คุณ
สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก เวชศาสตร์ฟื้นฟูผสมผสาน | Rehabilitation & Wellness Center | Center for Brain
Line Official : @arunhealthgarden (มีเครื่องหมาย @) (https://lin.ee/kVkb3zA)
instagram : arunhealthgarden
Tel : 02-717-4441 หรือ 094-812-7722