fbpx

ความดันโลหิตสูง ใช่โรคหัวใจหรือไม่? - Arun Health Garden

ศ.นพ.นิธิ  มหานนท์

     คนไข้มักจะชอบถามอยู่เสมอว่า ตัวเองเป็นโรคหัวใจหรือเปล่า……? คนส่วนใหญ่จะรู้สึกว่า การที่ถูกวินิจฉัยว่า เป็นโรคหัวใจนั้น เป็นสิ่งที่น่ากลัวเสียเหลือเกิน แต่โรคหัวใจ (และหลอดเลือด) นั้น มีอยู่หลายแบบหลายกลุ่มด้วยกัน  แบ่งออกได้คร่าวๆ  คือ

  • โรคหัวใจจากความดันโลหิตสูง
  • โรคหลอดเลือดกล้ามเนื้อหัวใจตีบ (หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด)
  • โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง และหัวใจล้มเหลว
  • โรคหัวใจเต้นผิดปกติ
  • โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
  • ภาวะผิดปกติอื่นๆ ของหัวใจที่นานๆ พบได้บ้าง เช่น เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ หรือก้อนเนื้อ (TUMOR) ที่หัวใจ

แต่คำถามที่จะบอกคนไข้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงว่า เป็นโรคหัวใจหรือไม่นั้น จะตอบค่อนข้างยากเพราะคนที่มีความดันโลหิตสูง พบได้ค่อนข้างบ่อย  (นี่แค่ความดันสูงนะครับ ไม่นับโรคความดันทุรัง!!)  ถ้าบอกว่า คนที่มีความดันโลหิตสูงทุกคนเป็นโรคหัวใจแล้วล่ะก็  คงมีคนเป็นโรคหัวใจเกือบครึ่งประเทศ เมื่อรวมกับโรคความดันทุรังด้วยก็คงมีเกือบทั้งประเทศ

      โรคความดันทุรัง  รักษาได้ด้วย มรรค มีองค์ 8 คือ เมื่อมีความเพียร ต้องเป็นสัมมาวายามะ คือ มีความเพียรชอบร่วมกับการเดินทางสายกลาง คือ มัชฌิมาปฏิปทา  ความดันก็จะไม่ทุรัง จะเป็นความดัน (ดื้อ) แต่พอเพียง (สายกลาง)

ส่วนโรคความดันโลหิตสูง ต้องรักษาด้วยการออกกำลังกาย …….  ควบคุมอาหาร …….  ควบคุมน้ำหนักตัวและใช้ยาเมื่อจำเป็น

การออกกำลังกาย  ควบคุมอาหาร และน้ำหนักตัวนี้ ก็ต้องใช้ความเพียรและการเดินสายกลางร่วมกับการมีสติอยู่กับตัว โดยเฉพาะมีสติอยู่เสมอเวลารับประทาน  ถ้าเรารับประทานด้วยความพอดีก็จะไม่มีโรคมาก!!!

ภาวะความดันโลหิตสูงกับโรคหัวใจ  มีความสัมพันธ์และเกี่ยวเนื่องกันอย่างใกล้ชิด เหมือนกับปั๊มสูบน้ำในบ้านกับท่อน้ำประปา  ถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งเสียก็จะมีผลกระทบถึงกันด้วยเสมอ

ทางการแพทย์  เราจัดให้ภาวะความดันโลหิตสูงนั้นเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคหรือความผิดปกติต่อหัวใจและหลอดเลือดของหัวใจได้ง่าย……  ความจริงแล้ว ภาวะความดันโลหิตสูงนี้ยังทำให้เกิดความผิดปกติต่อหลอดเลือดได้ทั้งร่างกาย  ที่อวัยวะอื่นๆ เช่น หลอดเลือด  สมอง  และหลอดเลือดไตด้วย

ความดันโลหิตที่เราพูดถึงกันนี้ คือ ความดันของเลือดที่อยู่ในหลอดเลือด เหมือนกับความดันของน้ำในท่อน้ำ  แต่เนื่องจากหลอดเลือดของเรายืดหยุ่น ไม่แข็งเหมือนท่อน้ำ  เราจึงสามารถวัดความดันเลือด “ภายใน” หลอดเลือดได้จากการวัดภายนอกที่ บริเวณแขน   ข้อมือ   หรือขา

      ความดันเลือดปกติของคนเราจะอยู่ที่ประมาณ  120/80 มิลลิเมตรปรอท (มิลลิเมตรปรอทนี้ คือ หน่วยของการวัดความดันในหลอดเลือด)  ………  ตัวเลข “120” ตัวแรก (ชอบเรียกกันว่า ตัวบน) คือ ความดันเมื่อหัวใจบีบตัว  เลือดพุ่งออกมาจากหัวใจด้วยความแรง  ความดันจึงสูง …..วัดได้เป็น ความดันเลือดตัวแรก…..  ส่วนตัวเลข “80”  คือ  ความดันเลือดช่วงหัวใจคลายตัว (ชอบเรียกกันว่า ความดันตัวล่าง)

ในคน “ปกติ” ถ้ามีความดันตัวบนเกิน 130 มิลลิเมตรปรอท หรือตัวล่างเกิน 85 มิลลิเมตรปรอทแล้ว จะถือว่า มีภาวะความดันโลหิตสูง   แต่สำหรับคนที่เป็นเบาหวานหรือมีโรคของหลอดเลือดแล้ว ความดันถ้าเกิน 120 / 80 มิลลิเมตรปรอท  เราก็นับว่า สูงเกินไปแล้ว!!!

ความดันโลหิตที่วัดแล้วจะใช้เป็นเกณฑ์พิจารณานี้ ต้องเป็นความดันที่วัดในเวลาที่คนถูกวัดนั้น นั่งพักอยู่ย่างน้อยครึ่งชั่วโมง  และไม่มีความเครียด  กลัว หรือวิตกกังวลใดๆ รวมทั้งต้องไม่มีความเจ็บปวด  หิว  อิ่ม  แน่นท้อง หรือโมโห  เพราะระยะเวลาดังกล่าวจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของความดันโลหิต จากความดันโลหิต “พื้นฐาน” ได้

นอกจากนี้ ถ้าเราวัดความดันโลหิตหลังจากออกกำลังกาย เราจะได้ค่าความดันโลหิตที่ต่ำกว่าความดันโลหิตพื้นฐาน ซึ่งจะเป็นเช่นนี้ต่อไปได้อีกถึง 2 – 3 ชั่วโมง หลังหยุดออกกำลังกายแล้ว!!  แต่….. ถ้าวัดขณะออกกำลังกาย ความดันโลหิตก็จะต้องสูงขึ้น

ดังนั้น การดูแลคนไข้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงนั้น  การที่นานๆ  2 – 3 เดือน จึงมาวัดความดันกับแพทย์ครั้งหนึ่ง จะเป็นการยากที่จะบอกได้ว่า ความดันโลหิตที่วัดได้ขณะนั้นปกติ หรือได้รับการควบคุมที่ดีพอหรือไม่   คนไข้ส่วนใหญ่   ผมมักแนะนำให้วัดความดันโลหิตเองที่บ้านโดยใช้เครื่องวัดความดันอัตโนมัติ (ซึ่งค่าที่วัดจะเชื่อถือได้เมื่อได้ใช้วัดเทียบกับแพทย์สัก 1 – 2 ครั้งเสียก่อน)

ผมจะให้คนไข้วัดความดันตัวเองตอนเช้าหลังตื่นนอนก่อนลุกจากเตียงไปเข้าห้องน้ำ   ล้างหน้า  แปรงฟัน  วัดสามครั้งติดๆ กันแล้วจดไว้เพื่อนำมาดูกัน ความดันโลหิตที่วัดได้ในเวลานั้น น่าจะเป็นช่วงที่เชื่อได้ว่าเป็นความดัน “พื้นฐาน” ในเวลานั้นของคนไข้  เพราะได้นอนหลับพักผ่อนมาตลอดทั้งคืน (ยกเว้นในบางคน บางครั้งที่นอนไม่หลับ!!)

ความดัน “พื้นฐาน” ของคนเราในช่วงเช้าจะเป็นช่วงที่สูงที่สุดของแต่ละวัน (ไม่นับความดันที่เปลี่ยนแปลงจากการที่ได้รับการกระตุ้นจากสิ่งต่างๆ ที่บอกไว้ตอนต้น) ถ้าคนไข้ขยันจดบันทึก ขยันวัดความดันไว้ทุกวันๆ  เมื่อนำมาดูกันก็จะทำให้ทราบแนวโน้มความดันโลหิตพื้นฐานของคนไข้ได้ดี  ทำให้ปรับยาได้ถูกต้อง

หมวดหมู่

คลังเก็บ