fbpx

โคเอนไซม์คิวเท็น - Arun Health Garden

ศ.นพ.นิธิ  มหานนท์

     โคเอนไซม์คิวเท็น (Coenzyme  Q – 10 ) หรือโคคิวเท็น (Co Q-10 )เป็นสารในกลุ่มควิโนนส์ (Quinones) พบในสิ่งมีชีวิตทุกชนิดโดยเฉพาะที่หัวใจ ตับ และไต อาจถือว่าเป็นวิตามินชนิดหนึ่งก็ได้ที่พบเมื่อ 50 กว่าปีก่อน มีหน้าที่สำคัญในการสร้างพลังงานให้แก่เซลล์ของสิ่งมีชีวิตนอกจากนี้ยังพบว่าโคคิวเท็นมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งก็หมายถึงการป้องกันการเสื่อมของเซลล์ด้วย โคคิวเท็นนี้พบได้ปริมาณน้อยในอาหารโดยเฉพาะพวกเนื้อสัตว์และปลา

โคคิวเท็นเป็นสารชนิดหนึ่งในร่างกายที่จะมีระดับต่ำลงเมื่อคนเราอายุมากขึ้น หรือในภาวะบางอย่าง เช่น โรคหัวใจ โรคพาร์กินสัน หรือโรคหืด แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ระดับที่ต่ำลงของโคคิวเท็นนั้นทำให้เกิดโรคดังกล่าว หรือการรับประทานโคคิวเท็นเสริมแล้วจะสามารถรักษาโรคที่ว่ามานั้นได้ มียาบางชนิด เช่น ยาลดไขมันกลุ่มสแตติน (Statin) ยารักษาความดันโลหิตสูงกลุ่มบีต้าบล๊อกเกอร์ (Beta Blocker) หรือยาแก้ภาวะซึมเศร้าบางชนิด จะทำให้ระดับโคคิวเท็นในร่างกายลดต่ำลงได้ แต่ก็ยังไม่พบว่าก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือผลเสียที่ชัดเจน

จากคุณสมบัติต่างๆข้างต้น โคเอนไซม์คิวเท็นจึงมักถูกกล่าวว่า มีสรรพคุณในการรักษาและป้องกันโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจ ภาวะความดันโลหิตสูง โรคติดเชื้อเอชไอวี (AIDS) โรคหืด โรคพาร์กินสัน อาการสั่นบางประเภท โรคมะเร็งบางชนิด โรคปอด โรคเหงือก โรคไมเกรนหรือโรคอ่อนแรงเรื้อรัง (Chronic Fatigue Syndrome ) นอกจากนี้ โคคิวเท็นยังได้รับการกล่าวถึงว่า ช่วยเรื่องความจำ เพิ่มภูมิต้านทานของร่างกายต้านความแก่/เสื่อม (Anti-Aging) และเพิ่มสมรรถภาพในการออกกำลังกายแต่ทั้งหมดนี้ยังไม่ใช่ข้อบ่งชี้ที่ได้รับการยอมรับจากองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ในประเทศญี่ปุ่นยอมให้ใช้ในการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด

จากการศึกษาวิจัยเมื่อ 30กว่าปีที่แล้วพบว่า คนที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว (คือ หัวใจทำงานได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย) จะมีปริมาณโคคิวเท็นในหัวใจต่ำกว่าปกติ จึงมีคนที่คิดว่าถ้าให้โคคิวเท็นเสริมไปแล้ว ก็คงจะทำให้หัวใจกลับมาแข็งแรงทำงานได้ดีขึ้น แต่จากการวิจัยหลายๆงาน หลังจากนั้นก็ให้ผลที่แตกต่างกันไป บางงานวิจัยว่าให้ผลดี บางงานวิจัยก็ไม่เห็นผลดีชัดเจน จนกระทั่งเมื่อ 2-3 ปีมานี้ มีงานวิจัยขนาดใหญ่ 2 งานที่ยืนยันว่า การใช้โคคิวเท็นในผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวนั้นไม่มีผลดีแน่ๆ (ในขณะที่ผลเสียก็ไม่ชัดเจน นอกจากจะเสียเงินซื้อรับประทานเอง)

มีการศึกษาวิจัยเล็กๆที่ลองใช้โคคิวเท็นในคนไข้ที่เริ่มเป็นโรคพาร์กินสันในระยะแรกจากประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า การใช้โคคิวเท็นขนาดสูงร่วมกับวิตามินอี สามารถช่วยชะลอโรคพาร์กินสันได้ ส่วนเรื่องผลในการป้องกันผลข้างเคียงจากยาลดไขมันกลุ่มสแตตินที่เป็นยาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในขณะนี้นั้นไม่พบว่า โคคิวเท็นมีผลอย่างที่คิดกันแต่แรก

ผลข้างเคียงจากโคคิวเท็นที่อาจพบได้ คือ อาการจุกเสียด แน่นท้อง เวียนศีรษะ และปวดหัว ที่ต้องระวัง คือ โคคิวเท็นอาจจะรบกวนระดับยาที่ใช้ในการป้องกันการแข็งตัวของเลือดพวกวอร์ฟาริน (Warfarin)

ถึงแม้ว่าโคคิวเท็นจะเป็นสารที่มีการค้นพบมาหลายสิบปีแล้ว และบางประเทศใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่การศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบก็เพิ่มมีมาได้ไม่นาน สำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องโรคหัวใจหรือโรคพาร์กินสันที่อยากจะใช้โคคิวเท็นคงต้องปรึกษาแพทย์ด้วยว่า มียาใดที่จำเป็นกว่าอยู่ก่อนแล้วจะมีปฏิกิริยากับโคคิวเท็นหรือไม่ และที่สำคัญก็คือ การใช้โคคิวเท็นนั้นควรเป็นเพียงการใช้เสริมกับยาอื่นๆที่มีข้อบ่งชี้อยู่ และได้รับการพิสูจน์แล้วว่า มีประโยชน์

สำหรับคนที่สุขภาพดี การรับประทานโคคิวเท็นเพื่อเป็นอาหารเสริม สำหรับป้องกันโรคต่างๆหรือชะลอความเสื่อม (ความแก่นั้น) ในขณะนี้ยังไม่มีข้อบ่งชี้ หรือประโยชน์ที่พิสูจน์ได้ การรับประทานอาหารที่ครบหมู่และการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ร่วมกับการปฏิบัติธรรม ทำสมาธิภาวนาก็มีการพิสูจน์แล้วว่าสามารถช่วยเรื่องความจำได้

ส่วนเรื่องความเสื่อมและความแก่นั้น ก็คิดเสียว่า…..มันก็เป็นเช่นนั้นเองครับ

หมวดหมู่

คลังเก็บ