fbpx



หัวใจกับอาหารและอาหารเสริม - Arun Health Garden

ศ.นพ.นิธิ   มหานนท์

            มีผู้ป่วยโรคหัวใจหลายๆ รายมักชอบถามเกี่ยวกับเรื่องอาหารว่า อาหารใดควรรับประทาน? อาหารใดไม่ควรรับประทาน?  และอยากรู้เรื่องอาหารเสริมว่ามีประโยชน์หรือโทษกับหัวใจเพียงใด?  ผมได้อ่านบทความวิชาการที่เกี่ยวข้องกับอาหารและโรคหัวใจกับหลอดเลือดที่น่าสนใจ จึงอยากน่ามาเล่าให้ฟัง

เรื่องแรกเป็นการศึกษาผลของการรับประทานถั่วและเนยถั่ว (PEANUT BUTTER) ในผู้หญิง

เนื่องจากอาหารประเภทถั่วเป็นอาหารที่มีปริมาณไพเบอร์และกรดไขมันไม่อิ่มตัว (Unsaturated Fatty Acid) สูง และอาจจะมีประโยชน์ต่อการเผาผลาญแป้งและน้ำตาล ทำให้ความไวต่ออินซูลินในร่างกายที่เสียไปในผู้ป่วยเบาหวานดีขึ้นได้

การศึกษานี้ติดตามดูผู้หญิงปกติที่ไม่เคยเป็นโรคหัวใจหรือโรคระบบหลอดเลือดต่างๆ แปดหมื่นกว่าราย ศึกษาพฤติกรรมการรับประทานโดยเฉพาะปริมาณของถั่วและผลิตภัณฑ์ของถั่ว หลังจากติดตามไปประมาณ 16 ปีกว่า (ตั้งแต่สาวจนแก่…) พบว่า กลุ่มรับประทานถั่วและผลิตภัณฑ์ของถั่ว คือ อย่างน้อย 5 ครั้ง/อาทิตย์ มีโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานลดลงเมื่อเทียบกับผู้ที่รับประทานผลิตภัณฑ์ของถั่วหรือถั่วในปริมาณน้อยกว่านี้   และพบว่า ผู้หญิงที่รับประทานถั่วมากนั้นยังมีน้ำหนักน้อยกว่าและออกกำลังกายมากกว่า  จึงอาจจะเป็นไปได้ว่าคนที่รับประทานถั่วสนใจสุขภาพร่างกายของตัวเองมากกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง (โดยไม่รู้ว่าถั่วทำให้คนชอบออกกำลังกายหรือคนที่ชอบออกกำลังกายชอบรับประทานถั่ว??)

อีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องการให้ฮอร์โมนทดแทนในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน (Hormone  Replacement  therapy-HRT)  และการให้วิตามิน Antioxidant  คือ วิตามิน E และวิตามิน C เสริม  การศึกษานี้จากผู้หญิงซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่ามีโรคหลอดเลือดหัวใจแล้วจากการฉีดสีจำนวน 400 กว่าราย แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มเท่าๆ กัน ที่ได้รับฮอร์โมนทดแทนวิตามินเสริมและยาหลอก ทั้งวิตามิน E และวิตามิน C นั้นแทนที่จะเป็นผลดีกลับอาจจะเป็นผลเสียต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ คือ ในผู้หญิงที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจแล้ว เมื่อได้รับฮอร์โมนทดแทนหรือได้รับวิตามินเสริมทั้งสองตัวหรือตัวใดตัวหนึ่งนั้น มีโอกาสที่โรคหลอดเลือดที่เป็นอยู่จะเป็นมากขึ้นหรือเสียชีวิตหรือเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ยา!!!

ต่อไปเป็นเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์  (Alcohol) ที่ได้มีผู้ศึกษาลักษณะและชนิดของแอลกอฮอล์ที่คนดื่มเป็นประจำว่า จะมีผลต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่โดยติดตามดูคนปกติ 38,000 กว่าราย ซึ่งไม่เคยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจมาก่อนเป็นระยะเวลา 10 กว่าปีเศษ โดยศึกษาชนิดของแอลกอฮอล์ที่ดื่ม  ว่าส่วนใหญ่ เช่น เบียร์  ไวน์ หรือสุราประเภทอื่น เช่น วิสกี้ หรือบรั่นดี

ซึ่งผลการศึกษาพบว่า ผู้ชายที่ดื่มเป็นประจำประมาณ 3-4 วัน/อาทิตย์ มีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันน้อยกว่าผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์เลย  และผู้ที่ดื่มสุรา 3-4 วัน/อาทิตย์นั้น มีโอกาสเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันลดลงถึงร้อยละ 35   แต่ในทางตรงกันข้ามผู้ที่ดื่มมาก คือ 4-5 วัน/อาทิตย์ กลับมีอายุไม่ยืนเพราะเสียชีวิตจากโรคอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคตับ

ทั้งนี้จากการศึกษานี้พบว่า ไม่ว่าจะเป็นการดื่มไวน์ เบียร์หรือสุราประเภทใดก็ให้ผลเหมือนกัน แต่การดื่มแต่ละครั้งไม่ควรมากกว่า 2-3 แก้ว ดังนั้นถ้าใครอยากจะไม่เป็นโรคหัวใจก็น่าจะดื่มแอลกอฮอล์อะไรก็ได้  วันละ 2-3 แก้ว และอาทิตย์ละ 3-4 วัน ไม่จำเป็นต้องดื่มไวน์ราคาแพงๆ ….!!!

เนื่องจากปลานั้นเป็นอาหารที่มีปริมาณของกรดไขมันไม่อิ่มตัว โดยเฉพาะกรดไขมันประเภทโอเมก้าสาม  (Omeka-3, Polyunsaturated fatty acid-PUSA)  ซึ่งเป็นสารอาหารที่คิดว่าน่าจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคหลอดเลือดในร่างกายตีบตัน จึงได้มีการศึกษาที่ดูปริมาณการรับประทานปลากับความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองโดยติดตามคนที่สุขภาพแข็งแรงดี ไม่เคยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมอง 40,000 กว่าราย อายุเฉลี่ย 54 ปี เป็นระยะเวลา 10 กว่าปีเศษ ดูปริมาณการรับประทานปลาและอาหารทะเลและคำนวณปริมาณของกรดไขมันไม่อิ่มตัว  ผลพบว่าผู้ที่รับประทานปลามากกว่า 1 ครั้ง/เดือน  จะมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke น้อยกว่าผู้ที่รับประทานปลาน้อยกว่านี้เกือบครึ่งหนึ่ง  แต่ผู้ที่รับประทานน้ำมันตับปลา (fish oil) เสริมโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบไม่ได้ลดลงตามไปด้วย!!

เรื่องสุดท้ายเป็นการศึกษาในอินเดียที่เปรียบเทียบดูกลุ่มประชากรทั้งผู้ชายและผู้หญิง 1,000 คน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มเท่าๆ กัน  กลุ่มหนึ่งให้รับประทานอาหารอินเดีย (India) ตามปกติและได้รับคำแนะนำเรื่องอาหารที่จะมีไขมันต่ำ  กับอีกกลุ่มหนึ่งให้รับประทานอาหารแบบทางยุโรปเมดิเตอร์เรเนียน  (Mediterranean) เช่น อาหารอิตาเลียน (Italian) ซึ่งมีกรดไขมันไม่มีอิ่มตัวและปริมาณผักและถั่วในแต่ละมื้อค่อนข้างมาก เมื่อติดตามไป 2 ปีพบว่า กลุ่มที่รับประทานอาหารประเภทที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงในผัก ถั่ว ผลไม้มาก (คือ อาหารเมดิเตอเรเนียน) มีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง  และยังพบว่าในกลุ่มที่รับประทานอาหารประเภทนี้ ระดับไขมันในเลือดจะต่ำกว่า, รอบเอวเล็กกว่า, ความดันโลหิตและน้ำหนักก็น้อยกว่าอีกกลุ่มหนึ่งด้วย

ผมมีผู้ป่วยเป็นผู้หญิง อายุ 60 ปีเศษ รูปร่างค่อนข้างอ้วน  ไม่มีเอว (เลยไม่รู้ว่าเอวเล็กหรือใหญ่!..) ไม่สูงนัก เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และมีระดับไขมันในเลือดสูง  มาพบด้วยอาการที่ว่าในระยะหลังเดินขึ้นบันไดแล้วเหนื่อยง่าย  ผมได้ตรวจดูแล้วคิดว่ายังไม่มีภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เพียงแต่เหนื่อยจากการที่มีน้ำหนักตัวมากไป  จึงได้ให้ยาควบคุมระดับไขมัน น้ำตาลและความดันโลหิตไว้  พร้อมๆ กับแนะนำให้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ, ลดน้ำหนัก รวมทั้งการควบคุมชนิดและปริมาณอาหาร

มีผู้ป่วยอีกคนหนึ่งเป็นผู้หญิง อายุ 50 ปีเศษ  รูปร่างสมส่วน ค่อนข้างสูง ท่าทางคล่องแคล่ว มาด้วยเรื่องของระดับไขมันคลอเรสเตอรอลในเลือดสูงมาก พร้อมกับบางครั้งมีอาการเจ็บแปล๊บๆ ที่หน้าอก  ภายหลังนี้ได้ทำการตรวจต่างๆ แล้วก็ไม่พบว่ามีภาวะของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเช่นกัน  แต่เนื่องจากระดับไขมันคลอเรสเตอรอลในเลือดสูงค่อนข้างมาก จึงได้แนะนำเรื่องของการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายไป  แต่ผู้ป่วยรายหลังนี้รู้สึกว่าตัวเองไม่อ้วน จึงไม่ควบคุม (ปริมาณ) อาหารนัก ชอบรับประทานขาหมูและอาหารทอดต่างๆ เป็นประจำเพราะรู้สึกภูมิใจที่รับประทานเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน ยังดีที่ยอมรับประทานยาลดไขมันในเลือดแต่ก็ไม่ค่อยได้ผลมากเนื่องจากไม่ค่อยควบคุมอาหารเลย

ต่อมาอีก 4 – 5 ปี ผู้ป่วยรายแรกซึ่งเชื่อฟังและปฏิบัติตัวตามที่ได้รับคำแนะนำเป็นอย่างดี รับประทานอาหาร  ออกกำลังกายสม่ำเสมอ สามารถลดน้ำหนักได้เกือบ 10 กิโลกรัม ยังแข็งแรงดีอยู่ ออกกำลังด้วยการเดินเป็นประจำทุกวันประมาณ 5 กิโลเมตร  และไม่มีอาการเหนื่อยหรือแน่นหน้าอกเหมือนเมื่อตอนแรกที่พบกัน ที่สำคัญไม่ต้องรับประทานยาลดไขมัน  ยาควบคุมความดันและยาเบาหวานอีกด้วย!!

ส่วนผู้ป่วยรายหลังนั้นหลังจากพบกันครั้งแรกสองปีเศษ ต่อมาก็กลับเข้ามาโรงพยาบาลด้วยเรื่องกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ต้องได้รับการรักษาด้วยการขยายหลอดเลือดทำบัลลูนและใส่ขดลวดไป  ระยะหลังจึงค่อยเชื่อฟังเรื่องการควบคุมอาหารและออกกำลังกายเหมือนผู้ป่วยรายแรก

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ความอ้วน (ไขมัน!!!) ความผอมที่เห็นภายนอก ไม่เกี่ยวกับไขมัน (คอเลสเตอรอล) ที่อยู่ในเลือดครับ!!..

          ถ้าจะให้ดีแล้วก็รับประทานผักบ้าง ถั่วบ้าง ผลไม้บ้าง ดื่มแอลกอฮอล์บ้าง  ออกกำลังกายมากนิดหน่อยคงมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขพอสมควรครับ!!…….

หมวดหมู่

คลังเก็บ