fbpx

เตรียมตัว เตรียมใจก่อนเดินทาง - Arun Health Garden

โรคหัวใจ  มักเกิดในผู้สูงอายุ (เขาห้ามเรียกว่า คนแก่)

แต่ผู้สูงอายุมักมีเวลาว่างจากหน้าที่การงาน (ประจำที่เคยทำก่อนเกษียณ)  จึงอยากพักผ่อนด้วยการเดินทางท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ

 

หลายๆ คนมีลูกๆ หลานๆ คอยพาเที่ยวอยู่เสมอๆ  ในขณะที่อีกหลายๆ คน มักจะจับกลุ่มเที่ยว เดินทางกันเองในกลุ่มเพื่อนๆ ที่มีอายุ (สูง) เท่าๆ กัน

 

ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อหลายๆ คนที่เคยเที่ยวกันอยู่เป็นประจำ  มาป่วยเป็นโรคหัวใจ แล้วจะทำอย่างไรดี?

• จะยังไปเที่ยวเดินทางไกลๆ ได้หรือเปล่า?

• ถ้านั่งเครื่องบินได้ไหม?

• ถ้าเวลาเปลี่ยนไป เวลาเดินทางจะต้องรับประทานยาอย่างไร?

 

คำถามเหล่านี้หลายๆ คนไม่กล้าถาม เลยอดเดินทางไปเที่ยวเหมือนก่อนเป็นโรคหัวใจ ชีวิตก็เลยเหี่ยวเฉาไปทีละเล็กทีละน้อย  คนไข้แบบนี้น่าสงสาร เพราะถึงแม้จะทำให้ (ร่าง) กายดีขึ้นหายป่วยได้  แต่ (จิต) ใจกลับป่วยมากขึ้น

 

ลูก ๆ หลานๆ หลายๆ คนเข้าใจผิดพยายามให้ผู้สูงอายุที่เป็นโรคหัวใจอยู่กับบ้านเฉยๆ (บางคนถือโอกาสจะได้ไม่ต้องดูแลใกล้ชิด ได้ไปเที่ยวของตัวเองเสียบ้าง!!!)  เพราะคิดว่าการท่องเที่ยวเดินทางไกลๆ นั้นเป็นไปไม่ได้สำหรับคนไข้โรคหัวใจหรือผู้สูงอายุ

แต่ ….. ตรงกันข้ามครับ !!!

ทุกครั้งเวลาหมอรักษาคนไข้ โดยเฉพาะคนไข้โรคหัวใจ  เรามีเป้าหมาย คือ ต้องทำให้คนไข้กลับไปใช้ชีวิตได้เป็นธรรมชาติเหมือนเดิม โดยมีหลักว่า  ต้องทำให้คนไข้แข็งแรงขึ้นกว่าเมื่อตอนก่อนป่วย  (ถ้าร่วมมือกัน ทำได้ไม่ยาก!!! )

 

ทั้งนี้ ก็แล้วแต่กรรมแล้วแต่เวรที่คนไข้แต่ละคนจะทำกันต่อไป  เช่น การเชื่อฟังหมอ  รับประทานยาตามเวลา และการออกกำลังกายควบคุมอาหาร (และรวมทั้งเวรกรรมที่ทำกันมาในอดีตก่อนเกิดโรคด้วย  เช่น  น้ำหนักตัวเท่าไร  มีโรคประกอบอื่นๆ ด้วยหรือไม่?)

 

เป็นอันว่า ถ้าทุกคนมีกรรม (กระทำ) ดี ณ ปัจจุบัน การรักษาก็จะได้ผลดี 

คนที่เคยไปเที่ยวตลาดจตุจักรได้…….รักษาแล้ว ต้องไปเที่ยวพัทยาได้

คนที่เคยไปเที่ยวพัทยามาก่อน……. ต้องให้ไปภูเก็ตได้

คนที่เคยไปเที่ยวภูเก็ตได้…..หลังได้รับการรักษา ต้องเดินทางไปฮ่องกงได้

คนที่เคยไปฮ่องกงมาแล้ว ก็ต้องรักษาจนเดินทางไปที่ไหนๆ ก็ได้ในโลก!!…. ถ้าอยากไป

การไปเที่ยวของผู้สูงอายุโดยเฉพาะคนไข้นั้น ถ้าจะเที่ยวให้สนุกและปลอดภัยแล้ว ผมมีข้อแนะนำไม่กี่ข้อ ดังนี้ครับ

 

  • ถ้าใครมีโรคประจำตัวอยู่ สามารถไปเที่ยวได้ถ้าโรคอยู่ในระยะที่ควบคุมได้ดี  อาการต่างๆ คงที่  เช่น  เหนื่อยก็เหนื่อยเท่าเดิม หรืออาการเจ็บหน้าอก ถ้าจะมีอาทิตย์ละครั้งก็มีอาทิตย์ละครั้งเหมือนเดิม  ซึ่งเมื่อใช้ยาอมใต้ลิ้นหรือยาพ่นแล้ว อาการดีขึ้นทันที  สรุปคือว่า ต้องไม่มีอาการเปลี่ยนแปลงภายในช่วง  1 – 2 เดือนก่อนเดินทาง
  • ถ้ามีอาการระหว่างเดินทาง…… อย่าฝืนทู่ซี้เดินทางต่อ  อดไปเที่ยวกับกลุ่ม (ทัวร์) สักครึ่งวันคงไม่เป็นไร ไว้ปีหน้าไปใหม่ก็ได้  พักอยู่ในที่พักสักวัน ถ้าดีขึ้น วันต่อไปค่อยไปเที่ยวต่อแต่อย่าฝืนก็ยังได้
  • ระหว่างเดินทางอย่ารับประทานอาหารอิ่มเกินไป…. แค่พอกันหิวก็พอ
  • หลังรับประทานอาหารอิ่มใหม่ๆ อย่าเพิ่งไปออกแรงเดินเร็วๆ ตามคณะทัวร์…. นั่งพักอยู่ในรถระหว่างคนอื่นเที่ยวสักหนหนึ่งก็ไม่เสียหาย
  • ถ้าอากาศร้อนจัดหรือหนาวจัด ควรหลีกเลี่ยงการเดินทาง แต่ถ้าอยากจริงๆ ต้องเตรียมเสื้อผ้าและอุกปรณ์ให้ดี
  • ระหว่างเดินทางต้องดื่มน้ำให้เพียงพอเมื่อเวลาอยู่บนเครื่องบินและในรถยนต์  พยายามถามไกด์ให้ดีว่า ระหว่างทางมีเวลาแวะเข้าห้องน้ำที่ไหนบ้าง และต้องเดินทางนานเท่าไรถึงจะพักเพื่อเข้าห้องน้ำ

 

เรื่องดื่มน้ำนี้ สำคัญมาก หลายๆ คนละเลยและพยายามไม่ทำตามเพราะขี้เกียจ  เข้าห้องน้ำเวลาเดินทาง (คนที่กลัวการเข้าห้องน้ำปัสสาวะระหว่างเดินทางก็ขอให้นึกเสียว่าเป็นโอกาสดีของเราก็แล้วกันที่ได้ไปถ่าย ปัสสาวะไว้ตามที่ต่างๆ ทุกๆประเทศ บางคนทั่วโลกเหมือนๆ พวกสัตว์ในป่าที่ต้องพยายามปล่อยกลิ่นของตัวเองไว้ เพื่อให้รู้ว่าที่นั้นๆ เป็นอาณาเขตของมัน!!! แล้วเราเคยมาเยือนแล้ว)

 

ช่วงที่ร่างกายแห้งและขาดน้ำนั้นเป็นช่วงที่เสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Heart attack) หรืออัมพาต  และลิ่มเลือดอุดตันที่ขาและในปอดมากกว่าปกติ หลายๆ คนเสียชีวิตได้เพราะเหตุนี้ทั้งๆที่ป้องกันได้

 

สำหรับการปรับเวลารับประทานยาเมื่อเวลาประเทศที่เราไป เปลี่ยนไปจากเดิมนั้น เพื่อความสะดวกผมมักแนะนำว่า ใครเคยรับประทานยาตอนเช้าก็ให้รับประทานยานั้นตอนพระอาทิตย์ขึ้น  ใครเคยรับประทานยาตอนเย็นก็ให้รับประทานตอนพระอาทิตย์ตก ใครเคยรับประทานยาก่อนนอนก็ให้รับประทานยาก่อนนอนเหมือนเดิม  แต่เวลาจะผิดไป 1 – 2 ชั่วโมง ไม่เป็นอะไรมากหรอกครับ….. ที่สำคัญอย่าลืมนำยาติดตัวไปให้พอ

 

และถ้าเป็นไปได้ ก็อย่าลืมทำประกันสุขภาพระหว่างเดินทางไว้ด้วยนะครับ  เพราะราคาไม่แพง  ถูกกว่าค่าตั๋ว  ค่าที่พักมาก   ถ้าบังเอิญมีอะไรขึ้นจริงๆ จะได้ไม่ฉุกละหุก 

 

นอกจากนี้นะครับ ทั้งคนไข้และคนที่ไม่ใช่คนไข้ ถ้าจะเที่ยวเดินทางให้สนุก  ผมยังแนะนำให้ฟิตร่างกายให้ดีก่อนเดินทางสัก 3 – 4 อาทิตย์ สำหรับคนที่เคยออกกำลังกายประจำและคนที่ไม่เคยออกกำลังกายประจำ ก็ควรทำ ทั้งนี้เพื่อให้ระหว่างการเดินทางนั้นจะได้ไม่ต้องมีอาการปวดเมื่อยตามหลัง ตามแขน-ขา และยังมีแรงเดินเที่ยว เดินช้อปปิ้งได้นานๆ อีกด้วย

 

ถ้าเป็นไปได้ฝึกเดินช้าๆ (สบายๆ ตามความเร็วที่ต้องการ)  ให้ต่อเนื่องกันสัก 20 – 30 นาที อาจจะเริ่มที่ 10 นาทีก่อนในอาทิตย์แรก (อาทิตย์ละ 4 – 5 วัน) อาทิตย์ที่สองเพิ่มเป็นวันละ 15 นาที อาทิตย์ที่สาม 20 นาที  อาทิตย์ที่สี่ 25 นาที  พอไปเที่ยวก็จะเดินได้เป็นชั่วโมงเลยล่ะครับ

 

นอกจากนี้ ถ้ารู้จักหมอฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจหรือนักกายภาพที่คุ้นเคยกัน ก็ให้ช่วยฝึกวิธีบริหารยืดคลายกล้ามเนื้อ แขนขาและหลังไว้ด้วย  เวลาเดินทางก็หมั่นทำ (ยืดกล้ามเนื้อ / stretching) ก่อนนอนและตอนเช้า  และหลังจากลงจากรถที่ต้องนั่งนานๆ หรือหลังนอนที่นอนนุ่มๆ ที่ไม่คุ้นเคย เพื่อป้องกันการปวดเมื่อยแขนขาและหลัง

 

ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าใครมีเวลาอยากเที่ยวให้สนุกมากๆ ก็ให้ไปขอคำแนะนำจากหมอฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ นักกายภาพบำบัด หรือเทรนเนอร์ที่คุ้นเคยกับการสอนผู้สูงอายุ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ  ที่ปกติเราไม่ได้ใช้มากในชีวิตประจำวัน แต่อาจจะต้องใช้มากเวลาเดินทาง  เช่น  กล้ามเนื้อที่น่อง  ขาและสะโพก  ที่ใช้เวลาเดินขึ้นลงเขา  หรือกล้ามเนื้อต้นแขน หัวไหล่และต้นคอ  ถ้าท่านจะไปช้อปปิ้งถือของหนักๆ  การฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อนี้ เราฝึกได้โดยการออกกำลังกายต้านแรงเสียดทาน (Resistance training) หรือยกน้ำหนักเบาๆในท่าที่ถูกต้อง

 

ถ้าไม่ได้เตรียมความแข็งแรงกล้ามเนื้อเหล่านี้ไว้ และท่านไม่รู้วิธียืด (Stretching) บริหารกล้ามเนื้อเหล่านี้แล้ว ท่านเดินทางได้แค่วันสองวัน ก็ต้องปวดเมื่อยเที่ยวต่อไม่สนุก  

 

นอกจากนี้ระหว่างเดินทางก็พยายามใส่รองเท้าส้นเตี้ยๆ  หรือรองเท้าหุ้มส้นที่คุ้นเคย และในคนที่น้ำหนักมากๆ  ก็ควรพยายามลดน้ำหนักไว้ด้วย ทั้งนี้เพื่อขาและเข่าของท่านจะได้ไม่ต้องแบกน้ำหนักส่วนเกินมากนัก

 

ผมเคยมีคนไข้ผู้หญิงคนหนึ่งอายุ 70 กว่าปี มีปัญหาเรื่องความดันโลหิตสูง  เบาหวานและกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เธอเคยมีอาการเหนื่อยและแน่นกลางหน้าอกเวลาเดินช้อปปิ้ง โดยเฉพาะเวลาต้องถือของหนักๆ  แล้วเดินขึ้นบันได

 

ผมได้ทำการรักษาเธอไปโดยการทำบัลลูนใส่ขวดลวดไป 4 – 5 จุด ซึ่งก็ทำให้เธออาการดีขึ้นมาก ไม่มีอาการเจ็บหน้าอกอีกเลย  แต่ยังมีอาการเหนื่อยอยู่บ้างเวลาเดินขึ้นที่สูง  ทั้งนี้ เนื่องจากเธออ้วนมาก  เธอสูงประมาณ 140 กว่าเซนติเมตร  แต่หนัก 80 กิโลกรัมกว่าๆ

 

พอตอนสิ้นปี เธอมาขอคำแนะนำเตรียมตัวเพื่อเดินทางไปเที่ยวยุโรป  ผมจึงได้แนะนำเธอไปตามที่เล่ามาข้างต้นพร้อมทั้งเน้นให้เธอลดน้ำหนักให้ได้ดีๆ ก่อน  เนื่องจากกลัวเธอจะเดินมากจนได้โรคปวดเข่าไปอีกโรคหนึ่ง

 

เธอเชื่อฟังดีมาก  ไปฝึกฟิตเนส  โยคะ  ยกน้ำหนักและเต้นแอโรบิค  อยู่เกือบสองเดือนก่อนไปเที่ยว…พอกลับจากเที่ยว เธอก็มาพบผมตามที่นัดไว้

 

คนไข้ : “ขอบคุณ คุณหมอที่แนะนำเรื่องให้เตรียมตัวไว้ก่อนเดินทางนะคะ …….เที่ยวคราวนี้สนุกมาก ไม่มีปวด  ไม่มีเมื่อยเลย!”

หมอ : “ไม่เป็นไรครับ…เห็นไหมครับบอกแล้วว่า เชื่อหมอแล้วเที่ยวได้สบายมาก”

คนไข้ : “แต่…ดีที่ไม่ได้เชื่อหมอทุกอย่างนะเนี่ยะ!”

หมอ : “อ้าว!!…. ทำไมหรือครับ?”

คนไข้ : “ก็ดีที่ดิฉันไม่ได้ลดน้ำหนักตามที่หมอสั่งนะสิคะ….. เที่ยวครั้งนี้เดินไม่เหนื่อยเลย  ช้อปปิ้งได้เยอะมากๆ  วันสุดท้ายปิดกระเป๋าเดินทางเกือบไม่ลง  ต้องเอาน้ำหนักตัวเองนั่งทับกระเป๋า ไปทั้งตัวถึงปิดกระเป๋าได้พอดี….นี่ถ้าน้ำหนักเบาไปสัก 1 กิโล คงต้องปิดกระเป๋าไม่ลงแน่ๆ!”

หมอ : “โธ่…. นี่ถ้าเชื่อหมอ ลดน้ำหนักได้ ป่านนี้ก็ได้ซื้อกระเป๋าเดินทางใหม่ได้อีกใบไปแล้ว จริงไหมครับ?”

คนไข้ : “!!!???”

หมวดหมู่

คลังเก็บ