บทความโดย ศ.นพ. นิธิ มหานนท์
“ความแก่” แม้จะเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ แต่หลายคนก็ยังเกรงกลัวความแก่…
เพราะเมื่อแก่แล้วนอกจากความเจ็บป่วย สิ่งที่มักจะมาคู่กันก็ยังมีเรื่องของ “ความหลงลืม”
ลืมเรื่องที่อยากจำและจำได้เฉพาะเรื่องที่อยากจะลืม ผู้สูงอายุหลายคนเริ่มรู้สึกว่าตัวเองแก่ก็เพราะรู้ตัวว่าสมองมักสั่งการต่าง ๆ ได้ช้าลง เริ่มหลงๆลืมๆ ลืมชื่อคน ลืมกระเป๋าสตางค์ ลืมกุญแจรถ ฯลฯ หาของที่เพิ่งใช้ไปไม่เจอ
ความจริงแล้ว มนุษย์เราแก่ลงอยู่ทุกวินาทีหลังจาก “เกิด” ขึ้นมาในโลกนี้ ไม่ใช่เพิ่งเริ่มแก่เมื่อเริ่มหลงลืม ความจำเสื่อมเป็นเรื่องที่หลายคนกลัว ปัจจุบันจึงมีผลิตภัณฑ์หรือสิ้นค้า ไม่ว่าจะเป็นอาหารเสริม วิตามิน สมุนไพร หรือแม้แต่โปรแกรมต่าง ๆ ที่กำลังเป็นที่นิยมในต่างประเทศออกมาโฆษณาว่าสามารถ “ฟื้นฟู” ความจำให้ดีขึ้นได้ (หรือเสื่อมช้าลง)
ในทางศาสนาพุทธของเรา ก็มีแนวทางช่วยเรื่องความหลงลืมได้ด้วยการมีสติและฝึกสมาธิให้เข้มแข็ง แต่สำหรับการเสื่อมลงของสมองหรือความจำเสื่อมที่เป็นโรคนั้น ก็อาจจะยากที่จะหยุดยั้ง เพราะส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของกรรม และความแก่ซึ่งเป็นธรรมดาที่ทุกคนต้องเผชิญ
คนไข้โรคหัวใจเดี๋ยวนี้อายุยืนขึ้น เนื่องจากยาและเทคโนโลยีในการตรวจรักษาโรคหัวใจที่ก้าวหน้ามาก ๆ แม้แต่คนไทยที่เป็นโรคหัวใจรักษากันมานาน เดี๋ยวนี้อายุกว่า 90 ปีก็มีให้เห็นได้ไม่ยาก ผมมีคนไข้โรคหัวใจหลายคนมีหัวใจแข็งแรงดี แต่ความจำถดถอยไปตามอายุ มีอยู่ 2-3คน ที่รักษากันจนกระทั่งจำชื่อหมอที่รักษาไม่ได้ เคยมีการศึกษาเรื่องการฝึก (ออกกำลัง) สมองในผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี มากกว่า 2,800 คน โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม เท่าๆกัน
กลุ่มแรก ได้รับการฝึกความจำ โดยเรียนฝึกสมาธิ เน้นให้จำสิ่งของและเรื่องราวต่างๆ
กลุ่มที่ 2 ฝึกเรื่องการคิดอย่างมีเหตุมีผล
กลุ่มที่ 3 ได้รับการฝึกให้คิดและตอบสนองไว เช่น ให้บรรยายสิ่งที่เห็นในจอคอมพิวเตอร์ ในระยะเวลาที่กำหนด เป็นต้น
กลุ่มที่ 4 ไม่ได้รับการฝึกอะไรเลย
จากการศึกษานี้พบว่า…
กลุ่มที่ได้รับการฝึกให้มีความคิดตอบสนองไว คือ กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่มี “คุณภาพ” สมองดีที่สุด แต่อย่างไรก็ตามทั้งสามกลุ่มที่ได้รับการฝึกสมองด้วยวิธีต่าง ๆ นั้น เมื่อติดตามไปอีก 5 ปีก็มีการเสื่อมของสมองเหมือนกัน แต่เสื่อมน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับการฝึกเลย
สรุปก็คือว่า ถ้าสมองได้รับการฝึกและใช้อยู่เรื่อยๆแล้ว ไม่ว่าจะอายุเท่าใด ก็จะทำให้สมองดีขึ้นและเสื่อมช้าลงได้
นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาในสหรัฐอเมริกา พบว่า ผู้สูงอายุที่ได้รับการฝึกสมองด้วยการเล่นเกมปัญหาต่างๆร่วมกับการรับประทานอาหารที่สุขลักษณะ และออกกำลังกายสม่ำเสมอจะมีระดับสมองและความจำดีกว่าพวกที่อยู่เฉย ๆ ไม่ทำอะไรเลย (ผมขอยืนยันเรื่องนี้เพราะผมมีผู้ป่วยสูงอายุจำนวนมากที่สมองดีเหลือเกิน จากการฝึกสมองด้วยการเล่นไพ่เป็นประจำ)
สมองคนเรามีความซับซ้อนมากกว่าอวัยวะอื่น ๆ มีการทำหน้าที่หลายอย่าง การฝึกหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่งของสมอง จึงไม่อาจสามารถแก้ไขเรื่องของสมองได้ทุกเรื่อง เช่น ผู้สูงอายุที่ฝึก (หรือเล่นจริงๆ) เล่นหมากรุกทุก ๆ วันจนเก่งกาจแค่ไหน ก็ยังมีโอกาสลืมกินยา หรือนึกชื่อเพื่อนที่ไม่ได้เจอกันมา 4-5 ปีได้ เช่นเดียวกับคนไข้ผมที่เล่นไพ่เป็นประจำ แต่กลับจำชื่อผมไม่ได้
ถึงอย่างไรก็ตาม การออกกำลังหรือฝึกสมองให้ได้ทำงานอยู่เรื่อยๆก็ย่อมดีกว่าการอยู่เฉยๆถึงแม้จะไม่มีข้อมูลว่า จะป้องกันโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ได้ แต่การที่ได้มีกิจกรรมต่างๆทำอย่างน้อยก็ทำให้ผู้สูงอายุทั้งหลายไม่เป็นโรคซึมเศร้า การได้มีกิจกรรมออกนอกบ้าน พบปะผู้คน พูดคุย ดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ อ่านหนังสือพิมพ์ ติดตามความเปลี่ยนแปลงต่างๆรอบตัว ย่อมทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ ความรัก ความเข้าใจและความอบอุ่นจากลูกหลานและสมาชิกในครอบครัวที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุทั้งหลาย “แก่” ได้อย่างภาคภูมิ
# ความแก่ ความหลงลืม ความจำ
ติดตามสวนสุขภาพอรุณผ่านช่องทางต่างๆ
Line Official : @arunhealthgarden (มีเครื่องหมาย @)
instagram : arunhealthgarden