แพทย์หญิง ปิยะนุช รักพาณิชย์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู
กิตติ สนใจจิตร์ First Certified LSVT BIG in Thailand
สถิติทางการแพทย์พบว่าประชากรโลกกว่า 10 ล้านคน ป่วยเป็นพาร์กินสัน และคาดว่ามีผู้ป่วยอีกจำนวนไม่น้อย ที่ไม่ทราบว่าตนเองมีความผิดปกติเป็นโรคนี้ รวมทั้งแพทย์เอง กว่าจะวินิจฉัยหรือบอกได้ว่าผู้ป่วยคนไหนเป็นพาร์กินสัน ก็อาจจะใช้เวลานาน บางครั้งกว่าจะรู้แน่ชัดว่าเป็นโรคนี้ อาจจะใช้เวลากว่า 10 ปี ตั้งแต่คนไข้เริ่มต้นมีอาการที่บ่งชี้ว่าอาจเป็นโรคพาร์กินสัน สำหรับสถิติประเทศไทยพบว่า มีอัตราการเกิดโรคพาร์กินสัน 1 คนจากประชากร 100 คนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ทั้งนี้พาร์กินสันไม่ใช่โรคของผู้สูงอายุเท่านั้น ประมาณร้อยละ 10 ของผู้ป่วยพาร์กินสัน อายุน้อยกว่า 50 ปี
อาการหลากหลายของผู้ป่วยพาร์กินสัน
พาร์กินสันเป็นโรคความเสื่อมของสมอง ที่มีความผิดปกติของสมองส่วนที่เรียกว่า Substantia nigra pars compacta (SNpc) ในบริเวณดังกล่าว เป็นส่วนสำคัญในการควบคุมการเคลื่อนไหวและมีส่วนสำคัญในการผลิตสารสื่อประสาท โดปามีน ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมการเคลื่อนไหวและการทรงตัว เมื่อสารโดปามีนในสมองลดลง จะทำให้ลักษณะของโรคพาร์กินสันดำเนินต่อเนื่องที่ละน้อย คือเป็นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออายุเพิ่มขึ้น
ภาพแสดงการลดลงของสารสื่อประสาทโดปามีน
ภาพซ้าย แสดงสารสื่อประสาทในคนปกติ ภาพขวาแสดงสารสื่อประสาทที่ลดลงในผู้ป่วยพาร์กินสัน
เนื่องจากการวินิจฉัยโรคพาร์กินสันจะใช้ อาการและอาการแสดงเป็นหลัก ไม่ใช่จากผลตรวตรวจเลือดหรือเอ็กซเรย์ ดังนั้นการที่จะบอกว่าเป็นโรคนี้ หรือไม่ ทั้งผู้ป่วย ญาติ และแพทย์ ล้วนแต่มีส่วนช่วยในการที่ทำให้การวินิจฉัยโรคเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น อาการสั่นมักจะเป็นอาการที่ถ้าผู้ป่วยเป็นจะวินิจฉัยได้ง่าย แต่จริงๆแล้วผู้ป่วยพาร์กินสันจะมีอาการได้หลากหลายนอกเหนือจากอาการสั่น และอาการดังกล่าวนี้อาจจะเป็นอาการนำที่ผู้ป่วยมีมาหลายปีจะรู้ว่าเป็นโรคพาร์กินสัน
10 อาการที่บ่งชี้ว่าอาจจะเป็นพาร์กินสัน |
1. อาการสั่น เช่น มือสั่น มักจะเป็นในขณะที่อยู่เฉย ไม่ได้ทำอะไร
2. เคลื่อนไหวลำบาก มีการติดยึด อาจจะสังเกตุได้เช่น เวลาเดิน แขนจะไม่แกว่งตามปกติ 3. การรับรู้กลิ่นลดลง 4. เขียนหนังสือตัวเล็กลง 5. พูดเสียงค่อยลง 6. ท้องผูก 7. นอนหลับไม่สนิท ละเมอ หรือ แขนขากระตุกช่วงที่หลับสนิท 8. หน้าไร้ความรู้สึก หรือเหมือนใส่หน้ากาก ยิ้มยาก ไม่ตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ 9. มึน เวียนศรีษะ เมื่อเปลี่ยนท่าทาง 10. อยู่ในท่าก้มตัว เหมือนหลังค่อม หรือ stoop posture |
อาการของผู้ป่วยพาร์กินสันอาจจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม
- อาการผิดปกติหลักทางด้านการเคลื่อนไหว (Motor symptoms)
ผู้ป่วยพาร์กินสันมักมีอาการสั่น เช่น มือสั่น มักจะเป็นในขณะที่อยู่เฉย ไม่ได้ทำอะไร มีอาการเคลื่อนไหวช้าลง ลำบาก มีการติดยึดของข้อต่อ สามารถสังเกตุได้จากการเวลาเดิน มักพบว่า แขนจะไม่แกว่งตามปกติ เมื่อนั่งหรือเดินมักอยู่ในท่าก้มตัว คล้ายหลังค่อม (stoop posture)
- อาการผิดปกติหลักทางด้านอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว (Non-motor symptoms)
ผู้ป่วยพาร์กินสันไม่ได้มีอาการเฉพาะทางด้านการเคลื่อนไหวเท่านั้น แต่อาจจะมีอาการอื่นๆ อีกหลายอย่างร่วมด้วย เช่น เสียงที่เปลี่ยนไป การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ หรือมีภาพหลอน นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น ระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น อาการมึนศรีษะโดยเฉพาะเวลาเปลี่ยนท่าทาง ระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องผูก ท้องอืด อาหารไม่ย่อย น้ำลายไหล และอื่นๆ เช่น อาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไม่สุดหรือกลั้นปัสสวะไม่ได้ อาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น
อาการผิดปกติหลักทางด้านการเคลื่อนไหว (Motor symptoms) |
• เคลื่อนไหวช้าลง และมีลักษณะของการเคลื่อนไหวได้องศาน้อยกว่าปกติ {Bradykinesia (slowness and smallness of movements)
• การติดยึด ข้อแข็ง (Stiffness or rigidity) • อาการสั่น ซึ่งจะเป็นขณะพัก (Tremors at rest.) • มีปัญหาด้านการทรงตัว (Postural instability) |
อาการผิดปกติหลักทางด้านอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว (Non-motor symptoms) |
• ท้องผูก ท้องอืด อาหารไม่ย่อย
• มีปัญหาในด้านการขับถ่ายปัสสาวะ • วิตกกังวล ซึมเศร้า • นอนไม่หลับ • เห็นภาพหลอน |
การดำเนินของโรคพาร์กินสันนั้น จะเริ่มจากการเกิดการกลายพันธ์ในระดับยีน มักตรวจพบความผิดปกติของภาพถ่ายทางรังสิวินิจฉัยทางด้านระบบประสาท จากนั้นผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกว่ามีความผิดปกติทางด้านอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว เช่น มีภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล นอนไม่หลับ ท้องผูก เป็นต้น เมื่อเวลาผ่านไปเริ่มเกิดอาการผิดปกติทางการเคลื่อนไหว เช่น เคลื่อนไหวได้ช้าลง มีอาการสั่น ข้อยึดติด เขียนตัวหนังสือได้เล็กลง และจนกว่าจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคพาร์กินสัน ใช้เวลาดำเนินการของโรคกว่า 5-10 ปี สำหรับพันธุกรรม แม้จะส่งผลต่อการเกิดโรค แต่พบว่าปัจจัยส่วนใหญ่นั้นคือ ลักษณะการใช้ชีวิต (lifestyle) สภาวะแวดล้อม (environment) และโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆที่อาจมีผลให้เกิดโรคนี้ได้ เช่น การติดเชื้อ สารพิษ สมองได้รับบาดเจ็บกระทบกระเทือน เป็นต้น แต่ทั้งนี้ทางการแพทย์ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสาเหตุของโรคพาร์กินสันคืออะไรแน่
ภาพแสดงการดำเนินการของอาการโรคพาร์กินสัน
ดัดแปลงจาก Stern, Matthew B. and Andrew D. Siderowf. “Parkinson's at risk syndrome: can Parkinson's disease be predicted?” Movement disorders : official journal of the Movement Disorder Society 25 Suppl 1 (2010): S89-93 .
ยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด
ไม่มีการรักษาใดในปัจจุบันที่จะทำให้โรคพาร์กินสันหายขาดได้ การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น การรักษาโดยทั่วไปคือ ยา การผ่าตัด และการฟื้นฟูกายภาพบำบัด ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะการฟื้นฟูกายภาพบำบัดเท่านั้น
LSVT BIG แนวทางใหม่ของการฟื้นฟูผู้ป่วยพาร์กินสัน
การออกกำลังกายด้วยโปรแกรม LSVT BIG เป็นการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดทางด้านการฟื้นฟูในผู้ป่วยพาร์กินสัน เพราะ LSVT BIG เป็นการออกกำลังกายอย่างหนัก เข้มข้นและกระตุ้นการทำงานของสมอง เพื่อหวังให้การเคลื่อนไหวของผู้ป่วยดีขึ้น นอกจากนั้นผลการรักษา ไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยดีขึ้นเฉพาะอาการเท่านั้น แต่เป็นการกระตุ้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสมองไปในทางที่ดีขึ้น (neuroplasticity)
จุดเริ่มต้นของโปรแกรมนี้ได้ถูกพัฒนามาจากการศึกษาในการรักษาผู้ป่วยพาร์กินสันที่มีการพูดที่ผิดปกติ ในช่วงปี1987-1989 Mrs. Lee Silverman ได้ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคพาร์กินสัน มีปัญหาในการพูดและสื่อสารกับคนรอบข้าง จึงได้ว่าจ้างให้ Dr. Lorraine Ramig มาบำบัดการพูดของ Mrs. Lee ดังนั้นจึงทำการศึกษาและพัฒนาโปรแกรมบำบัดการพูด โดยเรียกว่า LSVT LOUD ซึ่ง LSVT นั้นมาจาก Lee Silverman Voice Treatment นั้นเอง ต่อมาได้จัดตั้งศูนย์รักษาโรคพาร์กินสันขึ้น โดยใช้ชื่อว่า LSVT Global ขึ้น ได้ทำการศึกษา คิดค้นและพัฒนาโปรแกรมการรักษาความผิดปกติด้านการเคลื่อนไหว โดยใช้ชื่อว่า LSVT BIG โปรแกรมนี้เป็นการฟื้นฟูด้านการเคลื่อนไหวสำหรับผู้ป่วยพาร์กินสันโดยเฉพาะ เป็นการออกกำลังกายที่ใหม่ แตกต่างจากการรักษาแบบเดิมและมีการศึกษาวิจัยรองรับ ในการทำการรักษาแต่ละครั้งจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ที่ผ่านการอบรมและได้รับการรับรองจาก LSVT BIG มาโดยเฉพาะ ในการออกกำลังกายจะต้องฝึกตามขั้นตอนที่กำหนดอย่างเคร่งครัด เป็นจำนวนทั้งสิ้น 16 ครั้ง โดยใช้เวลาเป็นเวลา 1 เดือน หลังจบโปรแกรมจะช่วยให้อาการผู้ป่วยพาร์กินสัน เคลื่อนไหวดีขึ้นได้ต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า 6 เดือน
LSVT BIG จะเป็นการรักษาผู้ป่วยที่เน้นการเคลื่อนไหวที่กว้างและใหญ่ โดยจะกระทำให้ “สุด” ในทุกการเคลื่อนไหว ความสำคัญของการทำให้ “สุด” นั้นคือ การทำให้ผู้ป่วยพาร์กินสันเกิดเรียนรู้ที่จะเคลื่อนไหวในแบบใหม่ ที่กว้างขึ้น ใหญ่ขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ลุก นั่ง ยืน เดิน การทำกิจกรรมต่างในชีวิตประจำวัน และนอกจากนั้นยังช่วยฝึกให้ผู้ป่วยมีสมาธิในการทำกิจกรรมต่างๆได้ดีขึ้น ซึ่งการกระทำแบบนี้จะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ตรงกันข้ามกับอาการของผู้ป่วยพาร์กินสันที่จะเคลื่อนไหวช้า และเล็กๆ จากการวิจัยพบว่าการออกกำลังกายตามโปรแกรมจะช่วยให้เกิดผลของการรักษา ดังนี้
- สามารถปรับการทำงานของสมอง ลดภาวะการสูญเสียสารสื่อประสาทโดปามีน และช่วยฟื้นฟูการเชื่อมต่อของเซลล์ประสาท
- สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของการเคลื่อนไหว การทำกิจกรรมต่างๆ ในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน เช่น พัฒนาการเดินที่ช้าให้เร็วขึ้น พัฒนาการทรงตัวให้ดีขึ้น เพิ่มองศาการหมุนของลำตัว และพัฒนาการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การเคลื่อนไหวบนเตียง การแต่งตัว การเข้าสังคม
โปรแกรมเฉพาะบุคคล ฝึกหนักอย่างถูกต้อง ได้ผลต่อเนื่องนาน
- โปรแกรม LSVT BIG เป็นการรักษาที่ออกแบบเฉพาะบุคคลและแบบตัวต่อตัว
- ทำการฝึกกับ certified physical therapist ครั้งละ 1 ชั่วโมง จำนวน 4 วันต่อสัปดาห์ รวมทั้งสิ้น 16 ครั้ง
- จะต้องออกกำลังกายที่บ้านทุกวันตามที่กำหนดให้
- การฝึกอย่างสม่ำเสมอและถูกต้องอย่างเข้มข้น จะมีความสำคัญอย่างยิ่งในการกระตุ้นให้สมองมีการเชื่อมต่อและประสานกันมากขึ้น ( neuroplasticity)
ภาพแสดงตัวอย่างท่าการออกกำลังกาย
แห่งแรกในประเทศไทย
สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการรักษาโรคพาร์กินสัน จึงค้นหาโปรแกรมการออกกำลังกายที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการรักษาโรคพาร์กินสัน จึงได้ทำการอบรมและผ่านการสอบขึ้นทะเบียน LSVT BIG จาก LSVT GLOBAL และสำหรับโปรแกรมนี้ สวนสุขภาพอรุณ ถือเป็นที่แรกในประเทศไทยที่รักษาด้วยโปรแกรม LSVT BIG