“โรคหัวใจ” ที่พบบ่อย แพทย์แบ่งโรคหัวใจออกเป็น 6 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
- โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
- โรคลิ้นหัวใจ
- โรคหัวใจจากความดันโลหิตสูง
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
- โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
โรคหัวใจอื่นๆ ที่พบได้ไม่บ่อยนัก คือ โรคของเยื่อหุ้มหัวใจ โรคมะเร็งของหัวใจ หรือโรคติดเชื้อของหัวใจ
โรคหัวใจดังกล่าวทั้งหมด หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ท้ายที่สุดจะเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งเป็นภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ปริมาณพอเพียงตามความต้องการของร่างกาย และทำให้เกิดน้ำท่วมปอด บวมตามขาและเท้า รวมถึงอาจมีภาวะล้มเหลวของอวัยวะอื่นๆ เช่น ไตหรือสมองตามมา ในช่วงแรกๆ ของการเป็นโรคก่อนหน้าที่จะเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
ธรรมชาติได้สร้างหัวใจของคนเรามาอย่างดีเตรียมตัวพร้อมความสำหรับความผิดปกติต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเมื่อเกิดความผิดปกติในระยะต้นหัวใจจะปรับตัวหนาขึ้นเพื่อเพิ่มแรงในการสูบฉีดเลือดให้ออกไปจากหัวใจได้มากขึ้น ถ้ายังมีความผิดปกติหรือโรคต่อไป หัวใจก็จะขยายใหญ่ขึ้น (ปริมาตรหัวใจเพิ่มขึ้น) ทำให้เกิดภาวะหัวใจโต ซึ่งถ้าไม่ได้รับการแก้ไขก็จะเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวตามมา หรือถ้าได้รับการแก้ไขแต่ช้าเกินไปหัวใจก็อาจจะไม่สามารถกลับคืนมาเป็นปกติเหมือนเดิมได้อีก
หลายคนสับสนระหว่างภาวะ “หัวใจหนาและหัวใจโต” ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่คนทั่วไปเท่านั้นที่ไม่เข้าใจเรื่องนี้ แม้แต่แพทย์ที่ไม่ใช่แพทย์หัวใจ บางครั้งก็ยังเข้าใจสับสนเหมือนกัน ถ้าเปรียบหัวใจเหมือนห้องในบ้าน หัวใจโตก็คือ ห้องที่กว้างมีขนาดใหญ่ ส่วนหัวใจหนาก็เปรียบเสมือน ผนังของห้องนั้นหนาขึ้นอาจจะก่อด้วยอิฐ 2 ชั้นแทนที่จะกั้นด้วยไม้อัดยาวๆ ทั้งสองภาวะที่กล่าว…ไม่ใช่โรคของหัวใจเอง แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงของหัวใจซึ่งเกิดขึ้นเพื่อที่พยายามจะช่วยให้หัวใจทำงานได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
แต่ก็มีข้อยกเว้น คือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาที่เกิดจากกรรมพันธุ์ที่อาจทำให้มีการปิดกั้นทางเดินของเลือดที่ออกจากหัวใจ ภาวะนี้เป็นโรคและผู้ป่วยจะมีอาการและการตรวจพบคล้ายๆ กับภาวะลิ้นหัวใจตีบ ส่วนกล้ามเนื้อหัวใจที่หนาตัวขึ้นจากการที่มีความดันโลหิตสูงและไม่ได้รับการควบคุมที่ดีจะมีผลทำให้เจ้าของหัวใจมีโอกาสเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันได้มากกว่าคนทั่วๆ ไปที่ไม่มีหัวใจหนา
ตัวอย่างเคส…
มีผู้ป่วยรายหนึ่ง มีอาชีพเป็นนักกีฬาออกกำลังกายมากกว่าปกติ จากการตรวจร่างกายประจำปีพบว่า มีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ จึงได้รับการตรวจสมรรถภาพหัวใจต่อโดยวิ่งบนสายพาน ผลการตรวจพบเหมือนกับมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จึงถูกส่งต่อมาเพื่อขอคำปรึกษาว่า “ควรทำอย่างไรต่อไปดี?” หลังจากพูดคุยและซักถามประวัติเพิ่มเติมแล้ว ผมคิดว่า ผู้ป่วยคนดังกล่าวไม่น่าจะมีปัญหาของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เนื่องจากความที่เป็นนักกีฬาอาชีพ เขายังสามารถออกกำลังวิ่ง 8 – 10 กิโลเมตรได้อยู่ทุกวัน และยังฝึกซ้อมอยู่ในสนามอีก 3 – 4 ชั่วโมงเป็นประจำโดยไม่มีอาการผิดปกติ
เมื่อได้ตรวจร่างกายเขาแล้วพบว่า การบีบตัวของหัวใจแรงกว่าปกติเล็กน้อย ซึ่งก็ตรงกับผลที่ได้จากการตรวจกับคลื่นไฟฟ้าหัวใจและผลการตรวจสมรรถภาพหัวใจซึ่งเขาได้นำมาด้วย ที่พบว่า มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาซึ่งมีลักษณะ ดูเผินๆ จะคล้ายกับ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ผมจึงได้แนะนำให้ผู้ป่วยไปตรวจคลื่นสะท้อนเสียงหัวใจ หรือที่เรียกว่า “ECHO” ซึ่งสามารถดูและวัดขนาดความหนาและห้องหัวใจต่างๆ ได้ ผลตรวจดังกล่าวพบว่า กล้ามเนื้อหัวใจหนากว่าปกติตามที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งลักษณะเช่นนี้พบได้ในนักกีฬาบางคนที่ออกกำลังกายหนักมาก เมื่อบอกผลการตรวจให้ผู้ป่วยทราบไปแล้ว เขายังมีความกังวลเรื่องของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมาก ด้วยเหตุผลที่ว่าถ้าเขามีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบจริง อนาคตในการกีฬาของเขามีอุปสรรค ผมจึงได้แนะนำให้เขาฉีดสี X-ray เพื่อดูหลอดเลือดหัวใจ เมื่อได้อธิบายข้อดี/ข้อเสียของการฉีดสีให้เขาทราบแล้วและย้ำว่า ในการฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจลักษณะนี้จะไม่ช่วยเรื่องการวินิจฉัยนักเพราะเราทราบแล้วว่าเขาเป็นอะไร แต่อาจจะเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการฉีดสีโดยไม่จำเป็น ธรรมดาเมื่อแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยให้ทำการตรวจ ผ่าตัด หรือแม้กระทั่งรับประทานยาชนิดใด ก็ต้องชั่งใจระหว่างความเสี่ยงของการตรวจ หรือการผ่าตัดกับความเสี่ยงของการไม่ตรวจ หรือการไม่ผ่าตัดว่าอย่างไหนจะมากกว่ากัน แล้วจึงแนะนำสิ่งที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า (โลกนี้ไม่มีอะไรไม่เสี่ยง) ให้กับผู้ป่วย เช่นในผู้ป่วยรายนี้ การฉีดสี X-ray ดูหลอดเลือดหัวใจ จะมีความเสี่ยงโดยทั่วๆ ไปของการเกิดผลข้างเคียงมีประมาณ 1 ใน 10,000 แต่โอกาสเป็นโรคหลอดเลือดตีบในรายนี้เกือบเป็นศูนย์ เพราะเราสามารถอธิบายความผิดปกติที่ตรวจพบได้แล้วว่า มีสาเหตุมาจากอะไร แต่ในที่สุด ผู้ป่วยรายนี้ก็ได้รับการฉีดสีเนื่องจากเขามีความกังวลมากจนไม่กลัวกลับไปทำงาน เล่นกีฬาอีก ซึ่งผลการฉีดสีก็พบว่า หลอดเลือดหัวใจปกติทุก แถมยังมีขนาดค่อนข้างใหญ่กว่าปกติเหมือผู้ที่ออกกำลังเป็นประจำ
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโปรแกรมได้ที่ LINE สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก
สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก ยินดีให้คำปรึกษาและพร้อมแนะนำโปรแกรมที่เหมาะสมให้แก่คุณ
LINE Official : @arunhealthgarden https://lin.ee/kVkb3zA
โทร : 02-717-4441 หรือ 094-812-7722
Facebook : Facebook.com/arunhealthgarden
Instagram : https://www.instagram.com/arunhealthgarden/
เปิดบริการวันอังคาร – อาทิตย์
เวลา 09:00 – 18:00
ที่อยู่ : 54/1 ซอยธารารมณ์4 ถนนรามคำแหง9 แขวงพลับพลาเขตวังทองหลางกรุงเทพฯ 10310