ศาสตร์ต้านความแก่
แม้ เกิด แก่ เจ็บ จนตายจะเป็นเรื่องธรรมดา แต่คราวหนึ่งผมไปพูดให้ผู้สนใจดูแลสุขภาพฟัง…….
“ใครอยากแก่บ้างยกมือขึ้น”
หลบกันวูบวาบไม่มีใครยอมสบตาผมสักคน ผมเปลี่ยนคำถามเป็น….
“ใครแก่แล้วบ้าง ยกมือขึ้น”
คราวนี้ผมเจอค้อนไปหลายวงเลยครับ
แก่ เฒ่า ชรา สูงวัย วัยดึก สารพัด ถ้อยคำบาดหัวใจที่มีความหมายเข้าใจกันเพียงหนึ่งเดียว นั่นคือ เรื่องของความเสื่อมที่ถูกขับเคลื่อนด้วยกาลเวลา
ด้วยผมที่ขาว หนังที่เหี่ยวยืดยาน ตาที่ฟ่าฟาง หรือฟันที่หลุดไปก็เป็นเรื่องธรรมดา ที่ควร เกิดขึ้น แม้แต่ทางการแพทย์ เราจะไป “ชะลอ” มันไปได้บ้าง ในที่สุด ก็หนีไม่พ้น การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงภายนอก ที่เราสัมผัสได้ด้วยตาทั้งสิ้น…. แต่ภายในที่เรามองไม่เห็นล่ะ?
อายุเท่าไหร่จึงจะเข้าข่ายแก่ ถ้าอ้างอิงตามที่หมออายุรกรรมผู้สูงอายุวัยบอก ก็คือ ใครอายุเกิน 60 ปี (มีคนแอบหลบตามองต่ำอยู่หลายคน) ยินดีด้วยครับ คุณคือคนแก่แล้ว
อายุทางวิชาการ เราแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ อายุชีวภาพ (Bio- logical Age) และอายุที่แท้จริง (Chronological Age) อายุชีวภาพ หมายถึง อายุการทำงานตั้งแต่หน่วยงานเล็ก อย่างเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย ไปจนกระทั่งหน่วยงานใหญ่ ซึ่งก็คืออวัยวะทั้งหลายว่ายังกระชุ่มกระชวยทำงานประสานกันแข็งขันเทียบเท่าได้เท่ากับอายุเท่าไหร่ อายุชีวภาพนี้เองที่แสดงออกมาภายนอก ประกาศ (หรือประจาน) ให้คนทั่วไปเห็นว่า แก่หรือไม่แก่
ส่วนอายุที่แท้จริง ก็คือ อายุที่นับกันเป็นปีนั่นเอง (เป็นแค่ตัวเลข ! ! ! )
ผมอยากเพิ่มเติมให้ว่า ถ้ามีอายุอีกประเภท คืออายุที่เราได้มาจาก “กรรม” ที่กำหนดมาแล้วแต่เกิดอีกประเภท หนึ่ง ที่จะทำให้เรา มีอายุ 1 วัน หรือมากกว่า 100 ปี ซึ่งอายุนี้ ก็ยังขึ้นกับว่า เราจะใช้ “กาย” และ “ใจ” ได้ดี ดูแลมันถูกต้องไหมอีกด้วย
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆ ผู้ชายคนหนึ่ง อายุค่อนไปทางเลขเกือบ 50 (อายุที่แท้จริง = เกือบแก่) แต่ยังคึกคักแจ่มใส ดูอย่างไรก็เหมือนหนุ่มวัย 30 ปลาย ๆ (อายุชีวภาพ = ยังไม่แก่) เหมือนผมเป็นต้น
“วิทยาการว่าด้วยวิธีชะลอความแก่” อาจทำให้หลายคนที่ได้ยินตาโตเป็นประกายขึ้นมาทันใด เพราะเข้าใจว่าเป็นวิธีเปลี่ยนความเหี่ยวย่นให้กลับเต่งตึง จริงอยู่ที่ว่า “สังขารเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง” แต่ถ้าสังขารนั้นทรุดโทรมโรยรา เสียจนส่องกระจกครั้งใดฝันร้ายทุกทีแบบนี้ก็ทำใจได้ยาก นี่ยังไม่นับการสร้างมลภาวะทางสายตาสู่สังคมและคนที่นอนข้าง ๆ อีกด้วย
ดังนั้น เราจึงโชคดีแล้ว ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 หมอฝรั่งกลุ่มหนึ่งทุมเทศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาศาสตร์ต้านความชรา (Anti-Aging Medicine) จนปัจจุบันศาสตร์ที่ว่า กลายเป็นวิชาเฉพาะทางที่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ สนับสนุนมากมายยืนยันว่า มีวิธีทำให้คนเราแก่ (เสื่อมทางกาย) ช้าลงและตายยากขึ้นได้ แต่อย่าลืมว่าจะตายเมื่อไรนั้นถูกกำหนดมาแล้วโดย “กรรม” เราจะทำได้ คือจะทำให้เรามีสุขภาพดี และดูดี รู้สึกดี ไปจนถึงเวลา จะสั้นหรือยาว ตามเวลาที่ “กรรม”กำหนด
Anti-Aging Medicine ที่บัญญัติเป็นคำไทยว่า “เวชศาสตร์อายุรวัฒน์” แท้จริงแล้วไม่ใช่เพียงวิชากำจัดความเหี่ยว แต่เป็นศาสตร์ว่าด้วยการป้องกันโรคและชะลอความเสื่อมถอยที่จะเกิดกับวัยสูงอายุ ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้ผู้สูงวัยหรือกำลังจะสูงวัย มีชีวิตยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ทฤษฎีว่าด้วยสาเหตุความแก่มีมากมาย อ่านแล้วอาจจะแก่ก่อนวัยเลยขออนุญาตไม่พูดถึง ข้ามไปภาคปฏิบัติเลยดีกว่า สารพัดวิธีที่ใช้กันอยู่และพยายามศึกษาค้นคว้ากันต่อไป คือ การเสริมสารอาหารและให้ฮอร์โมนทดแทน การต้านอนุมูลอิสระ การทำดีทอกซ์ การใช้นาโนเทคโนโลยีของวิชาวิทยาศาสตร์จัดการกับยีนที่เป็นเหตุของโรคและความแก่ การใช้เซลล์ต้นกำเนิด การออกกำลังกายเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ และการทรงตัว และ ความแข็งแรงของหัวใจ และการนอนพักผ่อนที่เพียงพอ และการทำสมาธิภาวนา ฯลฯ
ผมขอสรุปหลักปฏิบัติเบื้องต้น ซึ่งเป็นกฎเหล็กเสริมภูมิต้านทานความแก่ดังนี้
กฎข้อที่ 1 ทำอย่างไรก็ได้ให้เครียดน้อยที่สุด
ดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดให้น้อยลง หยุดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงมลพิษ สารเคมีตกค้างปนเปื้อนทุกชนิด เท่าที่เป็นไปได้ และจำไว้ว่า อัลตราไวโอเลตในแสงแดดเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งสำหรับใครที่ไม่อยากหน้าเหี่ยว การปฏิบัติ สมาธิ และวิปัสสนาแบบไทย, แบบพุทธ ช่วยได้มากในเรื่องนี้อีกด้วย
กฎข้อที่ 2 กินให้น้อยลง (กินอย่างพอเพียง)
หมายถึง ลดจำนวนแคลอรีของอาหารที่กินในแต่ละวัน แต่กินให้ได้สารอาหารครบถ้วน มีสัตว์ทดลองมากมายที่ตายไปพร้อมให้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์กับเราว่า สัตว์ที่กินอาหารแบบจำกัดแคลอรี จะอายุยืนกว่าสัตว์กลุ่มที่กินไม่ยั้ง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีข้อมูลสนับสนุน ว่าผู้สูงอายุ มีไตปกติ ควรเลือกรับประทานอาหารมากโปรตีน ให้มากเพียงพอด้วย
กฎข้อที่ 3 เรื่องอาหารที่จะกิน
หลักการคือ กินอาหารหลัก (Macronutrients) ซึ่งก็คือคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมันที่มีประโยชน์ให้พอดี เข้าสูตรเศรษฐกิจพอเพียง และ
- กินอาหารที่ผ่านกระบวนการ (Processed Food) น้อยที่สุด อาหารสำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูปมักสูญเสียคุณค่าทางอาหารที่สำคัญไปมากมายระหว่างการผลิต แถมยังมีสารปรุงแต่ง สารเคมีกันเสียและรักษาสภาพที่มีผลต่อการทำงานระดับเซลล์ กินบ่อยเข้า เซลล์ร่างกายก็จะทรุดโทรม
- กินธัญพืช ข้าวกล้องที่มีใยอาหารสูง ผักสดที่สะอาดปราศจากเชื้อโรคและยาฆ่าแมลง ผลไม้ที่กินต้องไม่หวานจัด อาหารกลุ่มนี้ลดการสะสมคราบตะกอนในลำไส้ และให้สารต้านอนุมูลอิสระ (อนุมูลอิสระ คือ สารที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายเผาผลาญอาหารหรือผจญกับมลพิษ ทำตัวประหนึ่งกองโจรตระเวนปล้นฆ่าตามที่ต่างๆ ในร่างกาย ทำลายความเป็นหนุ่มสาวของเซลล์ และของเราเสียสิ้น)
- กินเนื้อสัตว์ที่มีไขมันแต่น้อย เน้นปลาสลับกับโปรตีนจากพืช เช่น ถั่วและธัญพืชไม่ขัดขาวชนิดต่างๆ ผักหลายชนิดก็มีกรดอะมิโนที่มีคุณสมบัติเทียบเท่าโปรตีน เช่น หน่อไม้ฝรั่ง บรอกโคลี แต่ต้องได้ปริมาณโปรตีนโดยรวมต่อวันให้มากพอที่จะไม่ให้กล้ามเนื้อลีบไปด้วยนะครับ
- กินไขมันที่มีประโยชน์ เช่น น้ำดอกทานตะวัน น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกคำฝอย ซึ่งเป็นแหล่งวิตามินอีที่สำคัญ ส่วนอาหารที่ทอดในน้ำมันใช้ซ้ำซากอย่างปาท่องโก๋ กล้วยทอด ไก่ทอดทรงเครื่อง หมูทอดรสเด็ด ทั้งหลายนั่นแสนจะอุดมไปด้วยสารก่อมะเร็ง ลุ้นกันเองก็แล้วกันครับว่า จะแก่(ไว) ตายหรือจะเป็นมะเร็งตาย
- ดื่มน้ำเปล่าเยอะๆ ไม่ใช่น้ำหวาน น้ำอัดลม หรือน้ำผลไม้ที่คั้นเอากากทิ้งไป
กฎข้อที่ 4 เสริมสารอาหารที่ร่างกายต้องการน้อยแต่จำเป็น (Micronutrients)
ซึ่งก็คือ บรรดาวิตามิน แร่ธาตุ กรดอะมิโนบางชนิด และสารต้านอนุมูลอิสระ เหตุเพราะโอกาสที่ทุกๆ วันเราจะต้องได้รับสารอาหารเหล่านี้ครบถ้วนและพอเพียงต่อความต้องการของร่างกายในระดับป้องกันความแก่นั้นน้อยมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากขึ้น มีการศึกษามากมายที่ยืนยันว่า คนที่กินวิตามินรวมและแร่ธาตุทุกวัน (ร่วมกับอาหารปกติครบหมู่) มีความแข็งแรงของร่างกายโดยรวมดีกว่า และป่วยน้อยกว่าคนที่ไม่ได้กิน ที่ขาดไม่ได้เด็ดขาดถ้ากลัวเหี่ยว คือ สารต้านอนุมูลอิสระ นั้นคือ วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี เบต้าแคโรทีน โคเอนไซม์คิวเทน
อื่นๆ ที่เหลือเป็นวิตามินกลุ่มชะลอความเสื่อมและความฟิตของอวัยวะ ผมหมายถึงสมองและระบบประสาท ดวงตา หัวใจ กล้ามเนื้อกระดูก นั่นก็คือ วิตามินบี 6 วิตามินบี 12 สังกะสี ซีลีเนียม แมกนีเซียม กรดโฟลิค แมงกานีส แคลเซียมบวกวิตามินดี เท่าที่มีรายงานทางการแพทย์รับรอง รักชอบตัวไหนก็หามากินกันหรือจะลองเป็นแบบวิตามินรวมก่อนก็ได้ แต่ถ้ามีโรคประจำตัวอยู่เดิม หรือไม่แน่ใจ คงต้องถามหมอประจำตัว (ที่รู้จริง) ก่อน ว่ากินได้ไหม ควรกินมากน้อยเท่าไร เพราะบางชนิดกินมากไปก็มีโทษเช่นกัน เดี๋ยวจะหาว่าผมไม่เตือน… โดยเฉพาะในฐานะที่เป็นหมอหัวใจ เรามีข้อมูลว่าการกินวิตามินเสริมบางชนิดขนาดมากๆ จะส่งผลต่อหัวใจโดยตรงด้วย
สารอาหารหรือกรดอะมิโนอื่นๆ ที่ชื่ออาจจะคุ้นหูบ้างไม่คุ้นหูบ้าง มีการศึกษาแล้วว่าได้ผล เช่น N-acetylcysteine , Glutathione, L-carnosine, Alpha-Lipoic Acid, Dimethylethanolamine ฯลฯ และก็มีบางตัวที่ผลิตออกมาขายกันแล้ว เห็นกันบ่อยๆ ที่ขายผ่านอินเตอร์เน็ต คงต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมให้ดีก่อนใช้ โดยการปฎิบัติส่วนตัว วิตามิน อาหารเสริมเหล่านี้ผมจะกินๆหยุดๆไม่กินต่อเนื่องไปตลอด
ส่วนประเด็นที่กำลังฮือฮาเป็นที่น่าสนใจตอนนี้คือ การใช้ฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโต (Human Growth Hormone) ทั้งในแบบฉีด เม็ดสำหรับกิน หรือสเปรย์สำหรับพ่น เชื่อกันว่าได้ผลในแง่ทำให้แก่ช้า เพิ่มกล้ามเนื้อ ปรับสภาพอารมณ์และเสริมพลังชีวิตรวมทั้งพลังทางเพศ ช่วยให้หลับสบาย ฯลฯ ผลเสียก็มี น่ากลัวด้วย มีรายงานว่า มีคนเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ความดันโลหิตสูง ขาบวม ปวดข้อและกล้ามเนื้อ ท้องอืด ฯลฯ หลังทดลองใช้ยาเองโดยพลการ เรื่องนี้แนะนำอย่างจริงจังที่ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ครับ
ฮอร์โมนอีกตัวหนึ่ง คือ เมลาโทนิน ที่ถูกนำมาใช้แล้วในแง่ช่วยการนอนหลับและแก้ปัญหาความอ่อนล้าหรือง่วงนอนจากการเดินทางข้ามเส้นเวลาด้วยเครื่องบิน แต่ความลับที่แสนมหัศจรรย์ก็คือ เมลาโทนินนั้นเป็นฮอร์โมนของคนวัยอ่อน เมื่อนำมาใช้กับคนแก่จึงเกิดปรากฏการณ์ “ย้อนวัย” เป็นที่ตื่นตะลึง แต่ต้องรอการศึกษาที่แน่ชัดถึงผลดีและผลเสียอีกสักระยะ
กฎข้อที่ 5 การออกกำลังกาย
ขออธิบาย ข่าวคราว ในตอนนี้ว่า เรื่องนี้สำคัญที่สุด (ถ้ามีโอกาสต้องขอขยายความในโอกาสต่อไป) ปัจจุบัน เราเน้นความสำคัญ ของมวลกล้ามเนื้อ ของผู้สูงอายุ ที่ต้องออกกำลังกาย ให้ครบทุกแบบด้วยการเคลื่อนไหว ต้านแรงต้าน (Resistant Training) เช่น การยกน้ำหนักเบาๆ และการฝึกการทรงตัว การยืดหยุ่นตัว ของกล้ามเนื้อ และกระดูกเส้นเอ็นต่างๆ ซึ่งอันนี้อาจฝึกได้ด้วยการทำการยืด (Stretching) ที่ถูกวิธี หรือฝึกโยคะ เป็นต้น
การออกกำลังทั้งสองประเภท (การเคลื่อนไหวต้านแรงต้าน และการยืดคลายกล้ามเนื้อ พร้อมฝึกการทรงตัว) นั้นต้องทำควบคู่ ไปกับการออกกำลังกายเพื่อความแข็งแรงของหัวใจ (ที่หยุดไปเมื่อไหร่ คือ ตาย !!!!) และหลอดเลือด ที่เรียกว่าการออกกำลังกายแบบแอโรบิค
อย่างไรก็ตาม พึงระลึกไว้ว่า แม้เราไม่อาจย้อนเวลา แต่เราสามารถทำให้นาฬิกาอายุเดินช้าลงได้ด้วยตัวของเราเอง ตัวเลขอายุมากไม่ว่า แต่อย่าปล่อยให้ความเป็นหนุ่มสาว “หลบใน”
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสแก่พระอานนท์ในช่วงท้ายก่อนเสด็จปรินิพพานว่า
“อานนท์ ผู้อบรมอิทธิบาท 4 มาอย่างดีแล้ว ทำจนแคล่วคล่องแล้วอย่างเรานี้ถ้าปรารถนาจะมีชีวิตอยู่ถึง 1 กัปป์ หรือ 120 ปี ก็สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้”
เคยมีนักวิทยาศาสตร์นำเซลล์ของมนุษย์ไปเลี้ยงไว้ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะที่สุด ทั้งอาหาร อุณหภูมิ ไม่มีการติดเชื้อ เซลล์ดังกล่าวมีอายุต่อเนื่องกันได้ประมาณ 120 ปี ช่วงพอดีใกล้เคียงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้กว่า 2,500 ปีก่อน ถ้าวิทยาศาสตร์ยังหาคำตอบให้ไม่ได้ ก็ “อิทธิบาท 4” นี้แหละครับที่จะทำให้เราอายุยืนถึง 120 ปี และอยู่อย่างมีสุขภาพ คุณภาพชีวิต (กายและใจ) ที่ดี
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ LINE สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก
สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก ยินดีให้คำปรึกษาและพร้อมแนะนำโปรแกรมที่เหมาะสมให้แก่คุณ
สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก เวชศาสตร์ฟื้นฟูผสมผสาน | Rehabilitation & Wellness Center | Center for Brain
Line Official : @arunhealthgarden (มีเครื่องหมาย @) (https://lin.ee/kVkb3zA)
instagram : arunhealthgarden
Tel : 02-717-4441 หรือ 094-812-7722