เมื่อหมอหัวใจ…ให้คนไข้ไปนวด
หน้าที่ของหมอหัวใจก็คือ ทำให้คนไข้หายเจ็บหน้าอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าอาการเจ็บหน้าอกนั้นเกิดจากความผิดปรกติของหัวใจ เพราะถ้าหัวใจผิดปรกติ อวัยวะระบบอื่นๆ ก็จะแย่ไปด้วย
วิธีการรักษาอาการเจ็บหน้าอกนั้นมีหลายวิธีครับ ซึ่งก็คงต้องเริ่มจากการวินิจฉัยให้ได้ก่อนว่าอาการเจ็บที่ว่านั้นมาจากหัวใจ…หรือไม่ ก็ตั้งต้นด้วยการซักถามอาการให้ละเอียด ตรวจร่างกาย เจาะเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจสมรรถภาพการทำงานของหัวใจ ตรวจคลื่นสะท้อนความถี่สูง เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์
และสำหรับคนไข้บางคน อาจจะต้องฉีดสีดูพยาธิสภาพของหลอดเลือดหัวใจ ก่อนที่จะพิจารณาว่าควรจะขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน หรือผ่าตัดทำทางเบี่ยงหัวใจดี!!!
ทำเป็นขั้นเป็นตอน มากบ้างน้อยบ้างต่างกันออกไป ไม่จำเป็นรีบด่วน (หมอที่ดี และคนไข้ที่น่ารัก จะไม่ข้ามขั้นตอนการตรวจวินิจฉัย ก็แล้วแต่ความเหมาะสมของคนไข้แต่ละคนเหมือนกัน) โดยทั่วไปแล้ว ทั้งหมอและคนไข้มีเป้าหมายตรงกันคือ ทำให้อาการเจ็บหน้าอกหายไป และไม่มีคนไข้เสียชีวิตจากโรคนี้
ที่ต้องทำการตรวจมากมาย แทนที่จะให้แค่ยารักษาอาการเจ็บหน้าอกเท่านั้น ก็เนื่องจากอาการเจ็บหน้าอกจากหลอดเลือดหัวใจที่ตีบนั้น บางครั้งแค่ให้ยาบรรเทาอาการอาจจะไม่พอ เพราะหลอดเลือดที่ยังตีบอยู่ จะทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้!
แต่ทุกอย่างก็ไม่แน่นอนครับ ไม่ว่าหมอจะรักษาอย่างไร จะมีคนไข้กลุ่มหนึ่งที่หลอดเลือดหัวใจที่ตีบ เป็นหลอดเลือดเล็กๆ ไม่เหมาะสมกับการทำบอลลูนหรือผ่าตัด หรือแม้จะทำบอลลูนขยายหลอดเลือด ใส่ขดลวดถ่างหลอดเลือดไว้แล้ว หรือแม้กระทั่งผ่าตัด ทำทางเบี่ยง (บายพาส) ให้หลอดเลือดหัวใจแล้วก็ตาม คนไข้บางคนก็ยัง (กลับมา) มีอาการเจ็บหน้าอกหรือเหนื่อยใหม่ได้ ทั้งนี้อาจจะเพราะการดำเนินโรคที่เป็นมากขึ้นเป็นเช่นนั้น หรือมีการตีบในหลอดเลือดเส้นใหม่ หรือเส้นที่ทำผ่าตัดหรือบอลลูนไว้ก็ได้
ในอดีตที่ผ่านมา ถ้าเจอคนไข้กลุ่มนี้ หมอก็ต้องกลับมาดูกันว่า จะรักษาอาการเจ็บหน้าอกหรืออาการเหนื่อยที่กลับมาเป็นใหม่ได้อย่างไร บางคนต้องทำบอลลูนใส่ขดลวดซ้ำ หรือหนักไปกว่านั้นคือผ่าตัดซ้ำ ร่วมไปกับการรับประทานยา ซึ่งก็แล้วแต่ว่าหลอดเลือดที่เป็นโรคมีลักษณะอย่างไร
แต่ทุกวิธีการดังกล่าว ก็เป็นวิธีแบบ invasive (มีความเสี่ยง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผ่าตัดที่ต้องเปิดทรวงอกผ่ากันอีกครั้ง คนไข้ส่วนใหญ่มักจะลังเล (เช่นเดียวกับหมอ) เพราะความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า!!!
น่าดีใจที่ปัจจุบันมีวิธีการรักษาคนไข้ที่มีอาการเจ็บหน้าอกดังกล่าว (ที่เส้นเลือดไม่เหมาะสมต่อการผ่าตัดหรือทำบอลลูน) ซึ่งสามารถทำให้คนไข้หายจากอาการเจ็บหน้าอก (หรือทุเลาลง) ได้ถึงร้อยละ ๗๐-๘๐ และมีการใช้ยาอมใต้ลิ้น หรือยาพ่นเพื่อบรรเทาอาการเจ็บหน้าอกลดลงอย่างชัดเจนอีกด้วย การรักษาแบบนี้ไม่ได้ทำให้หลอดเลือดที่ตีบหายตีบไป!!! แต่ก็สามารถทำ ให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นได้ โดยที่ทำให้เกิดหลอดเลือดเล็กๆที่ไปเลี้ยงหัวใจเพิ่มมากขึ้น
การรักษานี้ผมตั้งชื่อเองว่า เครื่องนวดกระตุ้นการทำงานของหัวใจ หรือเรียกสั้นๆว่า เครื่องนวดหัวใจ ฝรั่งเรียกเครื่องนี้ว่า Enhanced External Counterpulsation หรือ EECP เครื่องมือนี้ได้รับการประดิษฐ์ครั้งแรกเมื่อ ๕๐ ปีก่อน ได้รับการพัฒนามากขึ้นจากประเทศจีน จนล่าสุดได้รับการวิจัยผลเป็นที่รับรองในอเมริกาและยุโรป และมีการนำไปใช้กับผู้ป่วยโรคหัวใจในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๙๒
เครื่องนี้ทำงานโดยการปั๊มลมจากเครื่องเข้าสู่แถบรัดที่พันอยู่รอบขาทั้งสองข้าง ในขณะที่คนไข้นอนพักอยู่บนเตียง การปั๊มลมเข้าจะทำตามจังหวะการเต้นของหัวใจ โดยจะเริ่มบีบ (นวด) จากปลายขาบริเวณน่อง ต้นขา และสะโพกตามลำดับ ในช่วงที่หัวใจคลายตัว (ซึ่งเป็นช่วงที่เลือดไหลกลับไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจมากที่สุด) ทำให้เพิ่มปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจมากขึ้นได้
และแถบรัดนี้จะคลายตัวออกก่อนหัวใจบีบตัว ฉีดเลือดออกจากหัวใจ เพื่อทำให้มีการขยายตัวของหลอดเลือดส่วนปลาย หัวใจจึงทำงานเบาลง ไม่ต้องการออกซิเจนและเลือดมากนัก
คำว่า External แปลว่าภายนอก บ่งว่าการรักษานี้เป็นการรักษาที่ทำกับร่างกายจากภายนอก จึงมีอันตรายน้อยมาก ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย รุนแรงที่สุดคือเป็นรอยผื่น หรือแผลถลอกที่เกิดจากแถบรัด!!!
คนที่สามารถรักษาด้วยเครื่องนี้คือ (ไม่ใช่คนขี้เมื่อยนะครับ!!!)
คนที่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
คนที่ยังมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกหรือเหนื่อยจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดที่ได้รับยาเต็มที่ หรือได้รับการขยายหลอดเลือดหัวใจ ใส่ขดลวดหรือทำผ่าตัดบายพาสแล้ว
คนที่ไม่สามารถ (หรือคนไข้ไม่อยาก!!!) ทำการรักษาด้วยวิธีการขยายหลอดเลือด หรือทำบายพาสได้ เนื่องจากสภาพร่างกาย หรือสภาพหลอดเลือดไม่เหมาะสม
คนที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน หรือกล้ามเนื้อผิดปรกติ
คนไข้เหล่านี้เมื่อได้ใช้เครื่องนวดแล้ว พบว่าที่หัวใจจะเกิดมีแขนงหลอดเลือดฝอยๆไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจมากขึ้น และยังมีผลดีต่างๆที่เกิดกับหัวใจคล้ายๆกับผลดีที่ได้จากการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ในหลายๆรายพบว่าระบบการทำงานที่เกี่ยวข้องกับหัวใจดีขึ้น และในรายที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว การใช้เครื่องนวดนี้ก็จะทำให้การสูบฉีดเลือดของหัวใจเป็นไปได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องใช้แรงบีบตัวมากนัก เรียกว่าทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหายเมื่อยได้ก็แล้วกัน!!!
แต่เครื่องนวดนี้ไม่ทำให้ใครที่ปวดเมื่อยตามแขน ตามขา หรือหลังคอ ไหล่ หายเมื่อยได้นะครับ!!
มีคนไข้ผู้ชายอายุประมาณ ๗๐ ปีเศษๆ เคยได้รับการผ่าตัดทำบายพาส เพื่อตัดต่อรักษาเส้นเลือดหัวใจตีบตันเมื่อ ๖-๗ ปีก่อน กลับมาหาผมอีกครั้งด้วยเรื่องอาการเหนื่อยง่าย และบางครั้งอึดอัดหายใจลำบากเวลาออกแรงหลังอาหารหรือเดินขึ้นบันได เมื่อมีตรวจฉีดสีดู ก็พบว่าหลอดเลือดที่ใช้ทำบายพาสไว้เมื่อไม่กี่ปีก่อน ตีบตันไปเกือบหมดแล้ว แถมมีกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง เนื่องจากมีกล้ามเนื้อหัวใจตายเกิดขึ้นจากการมีเส้นเลือดตีบตัน ลักษณะของหลอดเลือดทำบอลลูนก็ไม่ได้ ผ่าตัดคนไข้ก็ไม่ยอม บอกว่าเข็ดแล้วเรื่องเจ็บตัวจากที่ทำบายพาสหนก่อน แล้วกว่าจะฟื้นตัวก็ใช้เวลาหลายเดือน
ผมได้อธิบายเรื่องเครื่องนวดให้คนไข้ฟัง เพราะคิดว่าน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่ง ร่วมกับการใช้ยา และควบคุมปัจจัยเสี่ยง (ต่าง) กับออกกำลังกาย
คนไข้ขอกลับบ้านเพื่อไปเตรียมตัว เพราะเวลามาใช้เครื่องนี้ ต้องขับรถไปมาโรงพยาบาลทุกๆวัน วันละ ๑ ชั่วโมง เพื่อรักษาอยู่ในคอร์สรวมแล้วเกือบ ๒ เดือน
แต่พอถึงวันนัดวันแรก คนไข้โทรศัพท์มาถึงผมขอเลื่อนการเข้ามาใช้เครื่องไปก่อน เพราะภรรยาไม่อยากให้รักษา!!!
ผมถามไปถามมาทีแรกนึกว่าคนไข้กลัว แต่ที่จริงแล้วกลายเป็นคนไข้ไปบอกภรรยาแค่ว่า ผมสั่งให้ไปเข้าคอร์สนวดทุกวัน วันละหนึ่งชั่วโมง
กลายเป็นว่าที่มาไม่ได้เพราะภรรยา (สาว) ไม่ชอบขับรถมาส่ง กลัวสามี (คนไข้) หายจากโรคหัวใจกลายเป็นโรคขี้เมื่อยไปตลอดชีวิต!!!!
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ LINE สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก
สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก ยินดีให้คำปรึกษาและพร้อมแนะนำโปรแกรมที่เหมาะสมให้แก่คุณ
สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก เวชศาสตร์ฟื้นฟูผสมผสาน | Rehabilitation & Wellness Center | Center for Brain
Line Official : @arunhealthgarden (มีเครื่องหมาย @) (https://lin.ee/kVkb3zA)
instagram : arunhealthgarden
Tel : 02-717-4441 หรือ 094-812-7722