โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease) ถือได้ว่าเป็นโรคที่มีการเสื่อมของเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่ปล่อยสารสื่อประสาทตัวหนึ่งที่ชื่อว่า โดพามีน เกิดขึ้นที่บริเวณก้านสมอง ส่วนที่เรียกว่า Substantia Nigra สารตัวนี้ มีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของระบบประสาท โดยเฉพาะการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย
เมื่อเซลล์ประสาทเหล่านี้เสื่อมลง ส่งผลให้ โดพามีนในสมองลดลงอย่างมาก ซึ่งโดพามีน ทำหน้าที่ส่งสัญญาณประสาทระหว่างสมองไปยังกล้ามเนื้อ เมื่อโดพามีนลดลง สมองจะไม่สามารถส่งสัญญาณควบคุมการเคลื่อนไหวได้อย่างถูกต้อง
ส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ ของโรคพาร์กินสัน ดังนี้
- อาการสั่นขณะพัก เป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด การสั่นที่เกิดขึ้นคล้ายการปั้นลูกกลอน
- อาการเคลื่อนไหวช้าลงกว่าปกติ ผู้ป่วยจะมีการเคลื่อนไหวช้าลง เดินลำบาก ก้าวขาไม่ออก
- อาการกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง กล้ามเนื้อทั่วร่างจะตึง เกร็ง ทำให้การเคลื่อนไหวลำบาก
- อาการการทรงตัว ผู้ป่วยอาจเสียสมดุลร่างกาย มีปัญหาการทรงตัว ทำให้ล้มง่ายขึ้น
- ปัญหาอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว โรคพาร์กินสันส่งผลต่อการพูด การกลืน การขับถ่าย ทำให้ท้องผูก จมูกไม่ได้กลิ่น เป็นต้น
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคพาร์กินสันให้หายขาด แต่มีวิธีการรักษาเพื่อบรรเทาอาการและชะลอความเสื่อมของเซลล์ประสาท การรักษามักใช้ยาเพื่อเพิ่มระดับโดพามีนในสมอง การออกกำลังกายด้วยวิธีเฉพาะที่ชะลอการเสื่อมของเซลล์ การปรับโภชนาการ การปรับพฤติกรรมสุขภาพ การจัดการความเครียดและอารมณ์ และการผ่าตัดทางการแพทย์ ในบทความนี้ จะพูดถึงการการออกกำลังกายและการปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคพาร์กินสัน ดังนี้
- การปรับโภชนาการ
สำหรับโรคพาร์กินสัน ควรมุ่งเน้นไปที่การปรับพฤติกรรมการกินเพื่อป้องกันอาการท้องผูก การจัดการเวลาการรับประทานโปรตีน การลดหรือหยุดสารให้ความหวานที่เป็นตัวการที่ทำลายเซลล์ประสาท ดังนี้
การป้องกันท้องผูก ควรเน้นการรับประทานอาหารชนิดที่มีกากใยสูง เช่น พืช ผัก ผลไม้ เป็นต้น เน้นรับประทานอาหารที่มีพรีไบโอติก ซึ่งเป็นใยอาหารชนิดพิเศษที่ร่างกายของเราไม่สามารถย่อยได้ แต่จุลินทรีย์ดีในลำไส้ใหญ่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยเปรียบเสมือนอาหารของจุลินทรีย์ดีเหล่านี้ พรีไบโอติกมีหน้าที่กระตุ้นการเจริญเติบโตและการทำงานของจุลินทรีย์ดี ส่งผลดีต่อสุขภาพทางเดินอาหารและสุขภาพโดยรวม ได้แก่ พรีไบโอติกที่พบได้ในอาหารหลากหลายชนิด เช่น กระเทียม หัวหอม หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโพดอ่อน ถั่วลันเตา กล้วยหอม แอปเปิ้ล กล้วย ส้ม กีวี่ ข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง ข้าวบาร์เลย์ ถั่ว เช่น ถั่วเหลือง ถั่วดำ ถั่วแดง และโพรไบโอติก กิมจิ โยเกิร์ต นมเปรี้ยว เป็นต้น
การจัดการเวลาการรับประทานโปรตีน โปรตีนถือได้ว่าเป็นสารอาหารที่ช่วยสร้างกล้ามเนื้อและป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อฝ่อลงตามอายุ แต่อย่างไรก็ตาม หากรับประทานโปรตีนในมื้ออาหารร่วมกับยารักษาโรคพาร์กินสันหลักในกลุ่ม Levodopa จะเกิดการแย่งดูดซึมตัวยาระหว่างสมองและโปรตีนที่รับประทานเข้าไป ทำให้ยาเข้าสู่ร่างกายได้น้อยลง ดังนั้น แนะนำให้รับประทานยาก่อนหรือหลังมื้ออาหาร โดยควรเว้นช่วงอย่างน้อย 30 -60 นาที กับมื้ออาหาร เพื่อช่วยให้ตัวยาดูดซึมได้ดียิ่งขึ้น
การลดหรือหยุดสารให้ความหวานที่เป็นตัวการที่ทำลายเซลล์ประสาท สารให้ความหวาน เช่น น้ำตาล มีส่วนกระตุ้นให้เกิดการอักเสบเรื้อรังในร่างกาย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาและความรุนแรงของโรคพาร์กินสัน การลดการบริโภคน้ำตาลจะช่วยลดการอักเสบเรื้อรัง ชะลอความเสื่อมของเซลล์ประสาท และบรรเทาอาการของโรคได้
- การออกกำลังกาย
สำหรับโรคพาร์กินสัน การออกกำลังกาย ถือว่าเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ไม่แพ้การรับประทานยาเลย ซึ่งการออกกำลังกายจะช่วยบรรเทาอาการของโรค ช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์สมอง ช่วยให้กล้ามเนื้อทำงานได้ดีขึ้น ทรงตัวดีขึ้น การขยับร่างกายดีขึ้น นอกจากนี้ การออกกำลังกายด้วยวิธีเฉพาะ เช่น LSVT BIG หรือ LSVT LOUD เป็นต้น ก็มีผลป้องกันการเสื่อมของเซลล์ประสาทได้ ทางสวนสุขภาพอรุณ มีข้อแนะนำสำหรับการออกกำลังกาย ดังนี้
- การออกกำลังกายประเภทแอโรบิก (Aerobic Exercise) เป็นการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือดแข็งแรง และช่วยป้องกันการเสื่อมของเซลล์ประสาท ยกตัวอย่าง เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิค ซึ่งควรออกกำลังกายต่อเนื่องให้ได้ถึงระดับของความหนักระดับปานกลาง (moderate intensity) อย่างน้อยวันละ 30 นาที และ 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือออกกำลังกายระดับหนัก (vigorous) อย่างน้อยวันละ 20 นาที และ 60 นาทีต่อสัปดาห์ ความเหนื่อยของความหนักระดับปานกลาง (moderate intensity) คือ ในขณะออกกำลังกาย เรารู้สึกเหนื่อยที่สามารถพูดสนทนาเป็นคำได้ แต่ไม่สามารถร้องเพลงเป็นทำนองได้ และความเหนื่อยของความหนักระดับหนัก (vigorous intensity) คือ ในขณะออกกำลังกาย เรารู้สึกเหนื่อยจนไม่สามารถพูดเป็นประโยคได้ หายใจไม่ค่อยสะดวก และไม่ได้สามารถร้องเพลงเป็นทำนองได้
- การออกกำลังกายประเภทฝึกกล้ามเนื้อหรือเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (Strengthening Exercise) เป็นการออกกำลังกาย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เช่น ยกน้ำหนัก เล่นเวทเทรนนิ่ง เป็นต้น ในโรคพาร์กินสัน อาการของโรคมักจะทำให้ขยับตัวได้น้อยลง เคลื่อนไหวได้ช้าลง ทำให้มวลกล้ามเนื้อและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลงได้ง่าย ดังนั้นการออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรง จึงเป็นส่วนช่วยสำคัญที่ทำให้ร่างกายยังสามารถมีความแข็งแรงในการทำกิจกรรมที่ชอบได้
- การออกกำลังกายประเภทการยืดกล้ามเนื้อ (Stretching Exercise) เป็นการออกกำลังกายโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อยืดกล้ามเนื้อ เพิ่มความยืดหยุ่นให้กับร่างกาย และช่วยลดความเสี่ยงการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายได้ ในโรคพาร์กินสัน อาการของโรคมักจะทำให้กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง ขยับตัวได้น้อยลง จึงเสี่ยงต่อข้อยึดติด และกล้ามเนื้อหดสั้น ดังนั้น การยืดกล้ามเนื้อก็จะช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งเกร็งน้อยลง และช่วยให้เคลื่อนไหวร่างกายได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
- การออกกำลังกายประเภทเสริมการทรงตัว (Balance Exercise) เป็นการออกกำลังกายโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกการทรงตัว เพิ่มความสามารถในการควบคุมร่างกายให้อยู่ในท่าตรง ไม่ว่าจะอยู่นิ่งหรือเคลื่อนไหว ทั้งนี้สามารถช่วยลดความเสี่ยงการล้มในทุกช่วงวัย ในโรคพาร์กินสัน อาการของโรคมักจะทำให้เสียสมดุลร่างกาย มีปัญหาการทรงตัว ทำให้ล้มง่ายขึ้น ดังนั้น การฝึกการทรงตัวเป็นประจำ จะช่วยลดปัญหาการทรงตัวได้
คำแนะนำสำหรับการปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวันในผู้ที่เป็นโรคพาร์กินสัน
- การยืนทรงตัวที่มั่นคง ควรยืนให้เท้าสองข้างห่างกันเท่าระดับไหล่ หรือประมาณ 10 นิ้ว
- ฝึกการออกตัว โดยยืนให้หลังตรง โยกน้ำหนักไปขาอีกข้าง แล้วให้งอเข่ายกเท้าก้าวเดิน และเมื่อไหร่ที่ก้าวขาไม่ออก ให้ยกปลายเท้าขึ้นโดยเฉพาะหัวแม่เท้า แล้วออกแรงก้าวทันที จะทำให้ก้าวง่ายขึ้น
- ก้าวกว้าง คือ จุดสำคัญ ในแต่ละก้าว ควรห่างกันให้ได้มากที่สุด อย่างน้อยที่สุดส้นเท้าของขาที่ก้าวต้องอยู่หน้าต่อปลายเท้าอีกข้างนึง ตอนก้าว ให้นำส้นเท้าลงก่อน และอย่ามองพื้น มองตรงไปข้างหน้า
- เลี้ยวปลอดภัย ไม่ไขว้ขา หากมีการซอยเท้า ให้ใช้เท้าข้างหนึ่งเป็นจุดหมุน และขาอีกข้างก้าวให้ยาว ไม่ให้วางเท้าใกล้กัน จะทำให้เลี้ยวปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
- นั่งลงอย่างปลอดภัย ฝึกหย่อยนั่งบนเก้าอี้ โดยวางเท้าห่างกันเท่าช่วงไหล่ โน้มตัวไปข้างหน้า กระดกก้นไปด้านหลัง ย่อเข่าลงช้าๆ จนวางลงบนเก้าอี้อย่างเบาแรงที่สุด ถ้าหย่อนสะโพกลงยาก ให้โน้มตัวไปข้างหน้าเยอะ จะช่วยได้ดี
- ลุกยืนอย่างมั่นใน ฝึกลุกยืน โดยวางเท้าห่างกันเท่าช่วงไหล่ โน้มตัวไปข้างหน้า กระดกก้นไปด้านหลัง จากนั้นเหยียดเข่าและลำตัวตรง หากลุกไม่ขึ้น แนะนำให้โน้มตัวไปข้างหน้ามากหน่อย จะลุกง่ายขึ้น แต่หากมีผู้ดูแลหรือคนช่วยตอนลุก ไม่แนะนำให้ดึงแขน แต่แนะนำให้ช่วยดันหลังเบาๆ จะช่วยให้ลุกยืนง่ายขึ้น
- ฝึกออกเสียง ให้อ้าปากกว้างและออกเสียงให้ดัง การฝึกลมหายใจเข้าออกให้ช่วงยาว อ่านหนังสือพิมพ์แบบออกเสียงหรือนับเลขดัง ๆ การฝึกเหล่านี้จะช่วยลดอาการเสียงเบาได้
นอกจากคำแนะนำข้างต้นนี้แล้ว ควรปฏิบัติกิจวัตรประจำวันอย่างสม่ำเสมอ เช่น การขึ้นลงบันได การเดินสวนสาธารณะ การทำงานในครัว การทำนา ทำไร่ เป็นต้น เพื่อไม่ให้เกิดการถดถอยของความสามารถในการทำกิจกรรม ท้ายที่สุดแล้วหากไม่ดูแลสุขภาพ จะนำมาสู่ความเครียด วิตกกังวล เก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน อาการของโรคดำเนินอย่างรวดเร็ว และมีความเสี่ยงภาวะติดเตียงในอนาคต ดังนั้น เมื่อเป็นพาร์กินสันแล้ว ต้องดูแลตัวเอง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อันเป็นความปรารถนาของทุกคนนั้นเอง
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ LINE สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก
สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก ยินดีให้คำปรึกษาและพร้อมแนะนำโปรแกรมที่เหมาะสมให้แก่คุณ
สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก เวชศาสตร์ฟื้นฟูผสมผสาน | Rehabilitation & Wellness Center | Center for Brain
Line Official : @arunhealthgarden (มีเครื่องหมาย @) (https://lin.ee/kVkb3zA)
instagram : arunhealthgarden
Tel : 02-717-4441 หรือ 094-812-7722