fbpx

ปัจจัยเสี่ยงต่อการมีปัญหาหัวใจ - Arun Health Garden

ศ.นพ.นิธิ   มหานนท์

โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดหัวใจตีบนั้นเป็นโรคเดียวกันซึ่งก็  คือ ภาวะที่กล้ามเนื้อของหัวใจมีเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอต่อความต้องการจากการที่หลอดเลือดซึ่งนำเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจนั้นตีบแคบลง  สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดหลอดเลือดตีบนี้ยังไม่รู้แน่ชัด  แต่รอยตีบแคบที่เกิดนั้นจะเกิดจากการพอกทับถมของคราบหินปูนและไขมันภายในหลอดเลือด คล้ายๆ กับท่อน้ำที่มีคราบสนิมเกาะอยู่ภายใน ถ้าสนิมพอกหนาขึ้นจนทำให้ท่อตีบลงก็จะทำให้น้ำไหลผ่านท่อนั้นได้ไม่สะดวก

ถึงแม้เราจะไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการที่หลอดเลือดตีบ (นอกจากโทษสังขาร) แต่ก็พอทราบว่ามีปัจจัยบางประเภทที่ทำให้ผู้ที่มีปัจจัยเหล่านั้นมีโอกาสเสี่ยงที่หลอดเลือดจะตีบแคบลงได้มากกว่าคนอื่นๆ

     ปัจจัยเสี่ยงที่ว่านี้ คือ

  1. ภาวะความดันโลหิตสูง
  2. โรคเบาหวาน
  3. ภาวะไขมัน หรือคอเลสเตอรอลในเลือดสูง
  4. บุหรี่
  5. โรคอ้วน
  6. ภาวะขาดการออกกำลัง
  7. ผู้ที่มีประวัติในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
  8. เพศชาย (หรือเพศหญิง หลังวัยหมดประจำเดือน)
  9. อายุ 

จะเห็นได้ว่า ปัจจัยเสี่ยงสามารถแบ่งออกได้เป็น  2 ประเภทใหญ่ๆ

–   ปัจจัยเสี่ยง 6 ข้อแรก  เป็นประเภทที่เราสามารถควบคุมหรือแก้ไขได้

–   ส่วน 3  ปัจจัยหลัง  คือ  เรื่องของอายุ  เพศ และประวัติครอบครัว (นอกเสียจากเกิดใหม่!!!)

    เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้  การผ่าตัดเปลี่ยนเพศก็ไม่ช่วยเกิดมาอย่างไรก็ต้องรับกรรม

กันไปตามนั้น

     คนที่ได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นโรคนี้แล้วอาจได้รับการรักษาอย่างใดอย่างหนึ่ง  คือ
  1. รักษาโดยยา
  2. รักษาโดยการผ่าตัดทำทางเบี่ยงของหลอดเลือด (ผ่าตัด Bypass)
  3. การขยายหลอดเลือด หรือทำบอลลูนร่วมกับใส่ขดลวดหรือ Stent

การรักษาไม่ว่าจะเป็นวิธีใดใน 3 วิธี  ที่แพทย์จะเลือกให้เหมาะสมกับแต่ละคนนั้นจะไม่ได้ผลดีเลย  ถ้าผู้ที่เป็นโรคไม่ได้ควบคุมหรือหลีกเลี่ยงจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่กล่าวข้างต้นด้วย  การรักษาที่แพทย์จะให้นั้นจะทำให้ผู้ป่วยดีขึ้นส่วนหนึ่ง  แต่อีกส่วนหนึ่งนั้นผู้ป่วยต้องช่วยด้วยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ  โดยเฉพาะการออกกำลัง  ควบคุมน้ำหนัก  และควบคุมระดับไขมันในเลือดให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ และการระวังเรื่องอาหารที่รับประทานประจำพร้อมทั้งหลีกเลี่ยงบุหรี่

ถึงแม้ในปัจจุบันนี้  เทคนิคการขยายหลอดเลือดใส่ขดลวดจะก้าวหน้าไปมากโดยนำยาบางประเภทไปเคลือบไว้บนขดลวด (stent) และยาที่เคลือบไว้ก็สามารถป้องกันการตีบแคบซ้ำกลับมาใหม่ของหลอดเลือดบริเวณที่ได้รับการขยาย (ส่วนอื่นๆ ไม่เกี่ยว) ได้เกือบ 100%   แต่ในผู้ป่วยที่ยังสูบบุหรี่หรือในรายที่เป็นเบาหวานแต่ควบคุมได้ไม่ดี  โอกาสตีบซ้ำของหลอดเลือดบริเวณที่ได้รับการใส่ขดลวดยังมีอยู่ประมาณร้อยละ 1 – 2

ผมมีเพื่อนสนิทร่วมชั้นเรียนคนหนึ่งซึ่งสูบบุหรี่จัดมาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนแพทย์  แต่ผมเป็นคนที่เกลียดกลิ่นบุหรี่และแพ้ควันบุหรี่อย่างมากก็พยายามทุกวิถีทางให้เพื่อนคนนี้เลิกสูบบุหรี่ให้ได้แต่ไม่สำเร็จจนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้

………ขณะที่กำลังนั่งตรวจผู้ป่วยอยู่ เพื่อนรักของผมเกิดมีอาการแน่นหน้าอกอย่างรุนแรง เหมือนมีก้อนอิฐโตๆ ทับอยู่บนหน้าอก  เป็นมากจนขนาดต้องขออนุญาตผู้ป่วย (ที่ไม่ป่วยแต่กำลังถูกหมอที่ป่วยตรวจ) ไปนอนพักทั้งๆ ที่ยังตรวจไม่เสร็จ  แต่เมื่อตื่นขึ้นมาอาการแน่นก็ยังไม่หาย จึงรีบไปตรวจคลื่นหัวใจ ซึ่งพบว่า  เขามีกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการที่หลอดเลือดที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจนั้นมีการอุดตันอย่างกระทันหันจากลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นในหลอดเลือด

แต่เพื่อนผมคนนี้ยังค่อนข้างโชคดี (คือ ทำบุญมายังไม่มากพอที่จะตายไปได้อย่างสบายๆ  ขณะที่นอนหลับ)   รอดชีวิตมาได้ด้วยยาขยายหลอดเลือดและตามด้วยการขยายหลอดเลือดหรือทำบอลลูนต่อมา

หลังจากนั้นเขาหยุดบุหรี่ที่เคยสูบวันละเกือบ 2 ซองอย่างเด็ดขาด และจากการที่เป็นคนไม่เคยออกกำลังกายใดทั้งๆ สิ้น  เดี๋ยวนี้เดินออกกำลังกายเป็นประจำทุกวันๆ ละ 30 – 40 นาที  แต่ที่น่าเสียดายคือ  กล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนได้ตายไปแล้ว   ขณะนี้หัวใจทำงานเพียงประมาณ 40% ของที่ควรจะเป็นเท่านั้น  จึงไม่แน่ใจว่าที่เพื่อนรักของผมหยุดสูบบุหรี่เพราะไม่มีแรงสูดควันบุหรี่หรือกลัวตายกันแน่!!…..

      ใครยังไม่อยากหัวใจวายตั้งแต่อายุ 40 ปีต้นๆ ก็สมควรเลิกสูบบุหรี่แล้วหาเวลาออกกำลังดีกว่าครับ ..

หมวดหมู่

คลังเก็บ