ศ.นพ. นิธิ มหานนท์
เมื่อพูดถึงเรื่องของหัวใจ ทุกคนชอบนึกถึงดวงใจ แทนที่จะนึกถึง “หัว” และ “ ใจ” ทั้งหัว และใจ เป็น 2 อวัยวะซึ่งแตกต่าง แต่สัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง เรื่องของหัว คือสมอง เป็นการใช้เหตุและผล หรือความคิดว่า ถ้าอย่างนี้ต้องเป็นอย่างนั้น ถ้าจะกล่าวให้ลึกซึ้งก็คือเรื่องของ ศาสตร์ กับ ศิลป์ “หัว” คือ ศาสตร์ “ใจ” คือ ศิลป์
แต่ทางการแพทย์สับสนยิ่งกว่านั้นเมื่อหัว คือสมอง ทำหน้าที่ควบคุมความคิดและความรู้สึก สมองคนเราซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ซีกนั้น ด้านหนึ่งมีอิทธิพลเด่นทางด้านศิลปะอีกด้านหนึ่งมีอิทธิพลเดินทางวิทยาศาสตร์ คือเหตุและผล ในขณะที่ดวงใจหรือหัวใจนั้น ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่างกายและอวัยวะที่ต้องการเลือดไปเลี้ยงเป็นจำนวนมาก ก็คือ หัวหรือสมองของคนเรานั่นเอง
ดังนั้น ถ้าไม่มีหัวใจหรือดวงใจ หัวหรือสมองก็ไม่สามารถทำงานได้ แต่เบื้องหลังจริงๆ มีมากกว่านั้น หัวหรือสมองเองจะมีระบบประสาทอัตโนมัติ 2 ประเภท คล้ายกับหยินและหยาง ควบคุมการทำงานของหัวใจ ส่วนหนึ่งทำให้หัวใจเต้นเร็ว อีกส่วนหนึ่งทำให้หัวใจเต้นช้า ถ้าหยินและหยางไม่สัมพันธ์กัน หัวใจคนเราก็จะเต้นเร็ว ๆ ช้าๆ เป็นปัญหาได้
พูดถึงเรื่องนี้ทำให้คิดถึงเวลาหนึ่งเมื่อเกือบ 10 ปีก่อนเป็นผู้หญิง อายุประมาณ 30 ปีเศษ เดินเข้ามาในห้องตรวจสายตาก้มมองพื้น แล้วนั่งลงต่อหน้าผมไม่พูดไม่จา ผมแนะนำตัวเองแล้วถามว่า มีปัญหาอะไรให้ช่วย สายตาของเธอยังก้มดูแต่โต๊ะที่อยู่ต่อหน้าแล้วบอกว่า เป็นประสาท มีอาการใจสั่น เมื่อคุยต่อไปเรื่อย ๆ ก็ทราบว่าอาการมีมาประมาณ 6-7 ปีแล้ว ทำให้ผมอดถามไม่ได้ว่า ทำไมถึงเพิ่งจะมาพบ เพิ่งมีอาการมากขึ้นหรือ
เมื่อถามเช่นนั้นผู้ป่วยเงยหน้าขึ้นมาจ้องผมแล้วบอกว่า คุณหมอขา ดิฉันไม่ได้เพิ่งมาพบคุณหมอท่านแรกนะคะ ไปหาหมอท่านอื่นมาแล้ว 5 คน ด้วยอาการใจสั่นเช่นนี้ คุณหมอพยายามตรวจหลายอย่างและทุกท่านบอกว่าเป็นโรคประสาท คิดมากไปเองเพราะตรวจกี่ครั้งๆ หัวใจก็เต้นเป็นปกติทุกครั้ง และไม่มีสิ่งผิดปกติอื่น ขณะนี้เธอเริ่มมีอาการทางประสาทกลัวคน ไม่กล้าเผชิญหน้าคนแปลกหน้าและนอนไม่หลับ ผมจึงคิดว่าแน่นอนรายนี้ง่ายมาก!! เธอคงเป็นโรคประสาทแน่ แต่อย่างไรก็ตาม ผมได้บอกให้ขึ้นไปรอบนเตียงตรวจ แล้วบอกเธอว่า ขอตรวจร่างกายอีกครั้งหนึ่งนะครับ
ระหว่างที่เธอนอนอยู่ (ด้วยความที่ผมเป็นคนชอบดูหนังจีนกำลังภายใน เคยมีความฝันไว้ว่าจะเป็นหมอแบบในหนังจีน คือ แค่แตะที่ข้อมือก็บอกอาการของโรคได้ และจ่ายยาได้เหมือนหมอจีน ดังนั้นทุกครั้งที่ผมเชิญผู้ป่วยขึ้นรอบนเตียงตรวจ ผมจะเอามือจับชีพจรผู้ป่วยอยู่ด้วยเสมอๆ ตลอดเวลาที่พูดคุยซักถามประวัติจากคนไข้) มือที่จับชีพจรเธออยู่นั้นก็เริ่มรู้สึกว่า ชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอ เดี๋ยวเร็วเดี๋ยวช้า จึงเรียกผู้ช่วยให้มาทำการตรวจคลื่นหัวใจ ระหว่างที่ผู้ที่ช่วยผมเตรียมตัวอยู่ ผมก็ตรวจร่างกายเธอไปเรื่อยๆ ก็ไม่พบว่ามีอะไรผิดปกติ และเมื่อผู้ช่วยตรวจคลื่นหัวใจเธอเรียบร้อยแล้ว ผมแปลกใจมากเมื่อพบว่า คลื่นหัวใจของเธอปกติทุกอย่าง จึงเดินหันกลับไปจับชีพจรใหม่อีกครั้งหนึ่ง แต่คราวนี้ยิ่งแปลกใจเพิ่มขึ้นเมื่อพบว่า ชีพจรเต้นสม่ำเสมอแต่เร็วมากถึง 150 ครั้งต่อนาที ในขณะที่เธอเองนอนหลับตาพริ้มอยู่บนเตียงไม่มีอาการตื่นเต้นหรือตกใจอะไรทั้งสิ้น ส่วนผมกลับคิดโทษไปว่า เธอคงตกใจที่เห็นผมเดินกลับไปกลับมากับการตรวจร่างกายซ้ำเป็นครั้งที่ 2
เพื่อความไม่ประมาทผมบอกให้ผู้ช่วยผมตรวจคลื่นหัวใจใหม่อีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ผมตกใจสุดกำลังเมื่อพบว่าคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือ EKG ของผู้ป่วยผิดปกติแบบชนิดที่เกิดจากการลัดวงจรไฟฟ้าของหัวใจ คือ เดี๋ยวเต้นเร็ว เดี๋ยวเต้นช้า ซึ่งผมบอกกับเธอว่า สงสัยอาการโรคประสาทของเธอจะต้องหายไปแน่ แต่หัวใจของเธอไม่ปกตินะครับ เมื่อพูดจบสายตาเธอซึ่งส่วนใหญ่เคยก้มลงดูแต่พื้นตลอดเวลาก็เงยขึ้นจ้องมองหน้าผม และพูดว่า “คุณหมอขาช่วยรักษาด้วยนะคะ” สายตาดูมีความมั่นใจและดีใจมากที่ผมตรวจพบว่าเป็นโรคหัวใจ ผมตอบไปว่า “ผมจะส่งเธอไปหาคุณหมอโรคหัวใจที่ชำนาญทางด้านโรคไฟฟ้าหัวใจ”
หลังจากนั้นอีกประมาณเดือนเศษๆ ผมได้รับข่าวแจ้งจากคนไข้และคุณหมอที่ผมส่งคนไข้ไปให้ว่า เธอไม่มีอาการใจเต้นใจสั่น และมีความมั่นใจกล้ามองดูหน้าผู้คน ในที่สุดผมจึงทราบว่าการเป็นหมอแบะแบบจีนก็รักษาโรคหัวใจได้ดีเช่นกัน ถ้ามีเวลาสงสัยต้องกลับไปเรียนต่ออีกสัก 10 ปี
เรื่องของจิตใจที่ส่งผลต่อสุขภาพนั้น มีคนกล่าวถึงกันอยู่ตลอดเวลา แต่ในการทางการแพทย์ ทางวิทยาศาสตร์ หาข้อมูลหลักฐานยืนยนยากว่าความสัมพันธ์อันนี้มีจริงหรือไม่???
แต่ที่จริงก็คือ ถ้า “หัว” กับ “ใจ” อยู่ด้วยกันด้วยดี ไม่ขัดคอกัน (จริงๆ แล้วคอเป็นอวัยวะที่อยู่ระหว่างหัวกับใจพอดี ไม่ทราบว่าทำไมต้องไปขัดกันที่คอ) คนเราก็คงมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง